ข่าว

"ศรีสะเกษ"เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่“ครัวโลก” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศรีสะเกษ"เดินหน้าเกษตรอินทรีย์  สนองรัฐผลิตข้าวหอมสู่“ครัวโลก”

        ก้าวสู่เมืองเกษตรอินทรีย์อีกขั้นสำหรับ จ.ศรีสะเกษ  เมื่อสํานักงานพาณิชย์จังหวัดร่วมกับสภาเกษตรกร ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ “ศรีสะเกษ เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง ปีงบประมาณ 2560 (เพิ่มเติม) เพื่อผลักดันศรีสะเกษให้เป็นเมืองแห่งเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ

       “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้มุ่งหน้าสู่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเก็บตกงานสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หวังยกระดับ จ.ศรีสะเกษ เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ในทุกมิติเพื่อเดินหน้าก้าวไปสู่แหล่งผลิตอาหารป้อนครัวโลก โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ชุติมา บุณยประภัศร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ร่วมเปิดงานสัมมนา โดยมี เมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมต้อนรับ

               ชุติมา กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานตอนหนึ่งว่าภาคการเกษตร มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นสาขาการผลิตที่สร้างอาชีพให้แก่ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ และมีบทบาทสำคัญยิ่งเกี่ยวกับความมั่งคงในด้านอาหาร พลังงานทดแทน เป็นวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารในลำดับต้นๆ ของโลกตลอดมา โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อลดลง การส่งออกมีการแข่งขันมากขึ้นและมีเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกสินค้ากษตรของไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร จะต้องมีการปรับตัว ปรับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

             “จากการลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษครั้งนี้ ได้เห็นความตั้งใจจริงของเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ โดยเกษตรกรให้ข้อมูลว่า เดิมข้าวหอมมะลิหอมมาก แต่หลังจากทำนาโดยพึ่งสารเคมี ทำให้ความหอมลดลง คนในหมู่บ้านก็สุขภาพไม่ดี จึงชักชวนสมาชิกให้ปรับเปลี่ยนมาทำข้าวอินทรีย์ นอกจากนี้ กบ เขียด ปู ปลา ที่เคยหายไปจากท้องนาก็เริ่มกลับคืนมามากขึ้น สุขภาพของสมาชิกก็ดีขึ้น ข้าวมีความหอมเพิ่มขึ้นและสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูงมากขึ้น มีตลาดรองรับชัดเจน”

              ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นแนวทางการผลิตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยทางด้านอาหาร รวมถึงการธำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 โดยให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลือนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภาคและระดับจังหวัดขึ้น

                “ภายในปี 2564 จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 6 แสนไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย เนื่องจากศรีสะเกษเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ และการจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดให้เหมาะสมต่อไป”

              ด้าน เมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ยอมรับว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ จังหวัดจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด นายธวัช สุระบาล โดยปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 3,298,116 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 25,708 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สําคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ทุเรียน หอมแดง กระเทียม และผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง

                เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการนาอินทรีย์ หรือผู้ประกอบการที่สนใจรับซื้อผลผลิตคุณภาพจากกลุ่มเกษตรกร สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด หน่วยงานของกรมการข้าวในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนหมอข้าว 1170 กด 4 

                            0 สุรัตน์ อัตตะ 0

                    [email protected]

  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ