ข่าว

เปิดแผนยุทธศาสตร์จัดการน้ำภาคอีสาน มุ่งพัฒนาโขง-ชี-มูล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดแผนยุทธศาสตร์จัดการน้ำภาคอีสาน มุ่งพัฒนาโขง-ชี-มูล

           จากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องปี 2558-2559 และอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จึงสั่งการให้ร่วมบูรณาการหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน และได้มอบหมายให้มีการปรับและทบทวนแผนงานตามยุทธศาสตร์น้ำของประเทศให้สอดรับกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมเร่งรัดดำเนินการได้ทันทีในโครงการที่มีความพร้อมให้พิจารณาบรรจุไว้ในแผนงบประมาณปี 2561 และปี 2562

          สำหรับภาคอีสานถือเป็นภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศกว่า 63 ล้านไร่  แต่ยังขาดความมั่นคงในเรื่องน้ำ เนื่องจากความไม่สมดุลของการกระจายตัวของฝนและลักษณะภูมิประเทศมีส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นที่ภาคอีสานแห้งแล้ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และเกษตรกรส่วนใหญ่ตัองพึ่งพาอาศัยน้ำฝนทำการเกษตร นอกจากนั้นในฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ริมฝั่งแม่น้ำโขง และสองฝั่งของลำน้ำมูลและลำน้ำชี 

         กระทั่งล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 10 ปี 2560-2569 ของภาคอีสาน ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน วงเงิน 95,532 ล้านบาท ใน 8 พื้นที่ภาคอีสาน 421 โครงการ เฉพาะปี 2561 ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้ว 15 โครงการ วงเงิน 1,246 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างการปรับแผนดำเนินการอีก 165 โครงการ วงเงิน 6,883 ล้านบาท

          ส่วนปี 2562 ทางคณะกรรมการได้เสนอไป 40 โครงการ วงเงิน 9,812 ล้านบาท เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทั้งระบบจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานมากกว่า 1.15 ล้านไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ 7.34 ล้านไร่ ความจุน้ำเพิ่ม 1,254 ล้านลบ.ม. โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 368,885 ครัวเรือน      

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงแผนพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายรัฐบาลว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(2557-2560) กรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1,276 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 487 ล้านลบ.ม. ได้พื้นที่ชลประทาน 782,973 ไร่ ประมาณร้อยละ 50 ของทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มความจุแหล่งเก็บน้ำเดิมและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ท้องถิ่นต้องการและใช้เวลาสำรวจออกแบบไม่นานนัก เช่น แก้มลิง ฝาย และประตูระบายน้ำเพื่อนำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และระบบชลประทาน ที่ทำได้โดยไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

          รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบอย่างบูรณาการในภาคอีสาน โดยลุ่มน้ำโขงจะสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำทุกสาย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงและสร้างสถานีสูบน้ำสองทาง รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากได้แก่ลุ่มน้ำก่ำและลุ่มน้ำสงคราม ส่วนลุ่มน้ำชีจะมีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำบริเวณจ.ชัยภูมิ ส่วนพื้นที่กลางน้ำเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ โดยการสร้างประตูระบายน้ำ ฝายและแก้มลิงบริเวณพื้นที่ริมน้ำ ขณะที่ลุ่มน้ำมูล เนื่องจากหาพื้นที่ในการทำอ่างฯ ขนาดใหญ่เพิ่มเติมได้ยาก จึงใช้แนวทางการพัฒนาโดยการสร้างอาคารเก็กกักน้ำในลำน้ำและแก้มลิงเพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณสบชี-มูล และเมืองอุบลราชธานี นอกจากนี้ ในแผนระยะยาว มีการเชื่อมโครงข่ายน้ำได้แก่โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูลมาไว้ในอ่างเก็บน้ำ และการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาไว้ที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง เป็นต้น

             “ถ้าจะสรุปแผนบริหารจัดการน้ำภาคอีสานจะมุ่งไปที่แม่น้ำ 3 สายหลักคือ น้ำโขง น้ำมูล และน้ำชี แม่น้ำโขงนั้นจะเน้นสร้างฝาย ประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำก่อนลงสู่น้ำโขง ส่วนมูลและชีเน้นสร้างคันกั้นน้ำและแก้มลิงทั้งสองฝั่งตลอดลำน้ำ”

             ดร.สมเกียรติ แจงรายละเอียดต่อไปว่า สำหรับปัญหาน้ำใน จ.นครราชสีมา ซึ่งมีทั้งปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง  กรมชลประทานได้จัดทำแผนงานเพื่อเสนอรัฐบาลผ่าน กนช. พิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีโครงการบรรเทาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ แก้มลิง และพิจารณาสร้างทางระบายน้ำเพิ่มเติมช่วงลำเชียงไกรตอนล่างและลำสะแทด ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าน้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝน และการขยายตัวของชุมชนเมืองในพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำมาก จึงเกิดน้ำท่วมบ่อย ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง รวมถึงสร้างคลองเชื่อมลำตะคอง–บึงพุดซา เพื่อเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำบึงกระโตน ขณะนี้การก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว

            “สำหรับโครงการที่จะดำเนินการเร่งด่วนปี 2561-2562 คือ ศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง โดยสูบน้ำจากเขื่อนป่าสัก และผันน้ำลำตะคอง-ลำเชียงไกร-ลำสะแทด-ลำมูล สำหรับ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำชี มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ น้ำท่วมบ่อย กรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินการแผนงานโครงการในปี 2557-2560 ได้แก่เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำคันฉู และปรับปรุงอ่างเก็บน้ำโป่งขุนเพชร ซึ่งยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ขณะที่โครงการที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในปี 2561 -2562 ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำล้ำชี (พรด) และอ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ เป็นพื้นที่แก้มลิงก่อนรับน้ำเข้า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวย้ำ  

             นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ภาคอีสานอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 10 ปีของรัฐบาล 

เขื่อนลำตะคองเหลือน้ำเพียง 30 เปอร์เซ็นต์  

             วันที่ 29 สิงหาคม 2560 นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่งใน จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินกว่า 50% แล้ว 4 เขื่อน มีเพียงเขื่อนลำตะคองเท่านั้นที่มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ไม่ถึง 50% โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั้ง 5 แห่ง ประกอบไปด้วย เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 94 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลบ.ม., เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 160 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 86 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 64 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้าน ลบ.ม.

               ทั้งนี้ ในส่วนของเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำน้อยติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เขียนแผนดำเนินการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มาช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อนลำตะคอง สำหรับใช้อุปโภคบริโภคของชาวบ้านใน 5 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ในวงเงินดำเนินการมูลค่า 4,000 ล้านบาท ที่เพิ่งจะได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีสัญจรทีี่ผ่านมา จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และเตรียมที่จะดำเนินการในปี 2561-2562 นี้   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ