ข่าว

ภารกิจพัฒนาอีสานสู่มิติใหม่ ศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภารกิจพัฒนาอีสานสู่มิติใหม่ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 อีสาน แม้เป็นภาคที่ได้ชื่อว่ายากลำบาก ประชาชนยากจนก็จริง แต่อนาคตกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ไหนจะเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ไหนจะมีจำนวนประชากรมากเช่นกัน ไหนจะเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเชื่อมโยงลงมาด้านล่างของประเทศไทย

รัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอีสาน โดยประกาศนโยบายนำอีสานไปสู่มิติใหม่ คือ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 2.34 ล้านตารางกิโลเมตร และประชากรกว่า 250 ล้านคน

ดั่งที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวไว้ว่า อีสานมีปัญหาหลักอยู่ 2 เรื่องใหญ่ คือ ปัญหาน้ำ และปัญหาการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

เรื่องน้ำ ทั้งปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม รัฐบาลได้ดำเนินการปีแรกในปี 2557 เป็นโครงการเล็กไม่ยุ่งยาก เพื่อตอบสนองปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ผลงานโดยรวม 3 ปี (พ.ศ.2557-2560) ของรัฐบาล คสช. จะเท่ากับรัฐบาลก่อนหน้าดำเนินการ 12 ปี กล่าวคือพัฒนาโครงการชลประทาน 1,247 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 762,973 ไร่ เพิ่มน้ำต้นทุนได้ 487 ล้านลูกบาศก์เมตร

แผนระยะต่อไปในปี 2561-2562 รัฐบาลจะเร่งพัฒนาโครงการขนาดใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง 476 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 2.01 ล้านไร่ เพิ่มน้ำต้นทุน 2,926 ล้านไร่ เปรียบเทียบแล้วจะมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ หลายเท่าทีเดียว

“เฉพาะภาคอีสานจะมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1.15 ล้านไร่ เกือบ 50% ของพื้นที่ชลประทานที่เพิ่มขึ้นทั้งประเทศ น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,254 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 42.86% ของน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

ส่วนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตร พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า นโยบายเกษตรแปลงใหญ่เป็นเป้าหมายสำคัญในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานคุณภาพสินค้า ขั้นต่อไปจะนำเกษตรแปลงใหญ่จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะเพิ่มเติมเรื่องแหล่งเงินทุน การบริหารจัดการ การเชื่อมโยงและการตลาด รวมทั้งส่งเสริมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพราะเกษตรกรภาคอีสานยังจำหน่ายผลผลิตขั้นต้น มูลค่าน้อย หากได้แปรรูปจะเพิ่มมูลค่าได้มาก

“เป็นเรื่องต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ใช้ระบบการทำงานประชารัฐ ระดมหน่วยราชการสนับสนุน โดยมีภาคเอกชนมาช่วยการบริหารจัดการและการตลาด รวมถึงการสร้างตราสินค้า (แบรนด์) และยกระดับมาตรฐานสินค้าด้วย”

สอดรับกับมุมมองของ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  รองอธิบดีกรมชลประทาน ที่ระบุว่าการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสานเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.15 ล้านไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุน 1,254 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 จำนวน 174 โครงการ งบประมาณ 8,129 ล้านบาท และแผนปี 2562 จำนวน 40 โครงการ งบประมาณ 9,812 ล้านบาท

ตัวอย่างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสาน เช่น จ.ชัยภูมิ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ จ.ร้อยเอ็ด-การปรับปรุงพนังกั้นแม่น้ำชีที่ทรุด จ.อุบลราชธานี-โครงการป้องกันน้ำท่วม จ.สกลนคร-การพัฒนาลุ่มน้ำก่ำและการขุดลอกหนองหาร จ.นครราชสีมา-ศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำลำตะคองโดยสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และผันน้ำลำตะคอง-ลำเชียงไกร-ลำสะแทด-แม่น้ำมูล

เป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับอีสานที่มีน้ำต้นทุนเดิมกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การเพิ่มน้ำต้นทุน 1,254 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ย่อมหมายถึงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตร พร้อมๆ กับการเพิ่มปริมาณการค้าขาย การเดินทางท่องเที่ยว ที่หนุนส่งอีสานเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

                          อีสานมั่นคงแข็งแรงขึ้น ประเทศไทยย่อมแข็งแรงและมั่นคงด้วยไม่ต้องสงสัย!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ