ข่าว

ยลวิถีเกษตรชุมชนตำบล “สิงหนาท” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยลวิถีเกษตรชุมชนตำบล “สิงหนาท” จากเกษตรปลอดสารสู่อาหารปลอดภัย

             การทำเกษตรเคมีที่มุ่งหวังผลผลิตที่มากขึ้นเพื่อสนองความต้องการการตลาด นำมาซึ่งต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำลงแทนที่จะได้กำไรกลายเป็นหนี้สินที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นทุกปี ซ้ำร้ายยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมีตกค้าง ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งผู้บริโภค 

               “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้พามาดูวิถีเกษตรชุมชนของชาวบ้านใน ต.สิงหนาท อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งมีการใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาในการผลิต จากภาวะหนี้สิน จึงเกิดความเครียด มีรายได้ไม่พอรายจ่าย ตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว สุขภาพก็ย่ำแย่

             ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากหลุดพ้นวงจรหนี้สินและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เกษตรกรตำบลสิงหนาท จึงได้รวมกลุ่มระดมความคิดเห็นในการหาทางออกเรื่องนี้ และก็พบสาเหตุของปัญหา นั่นคือการใช้สารเคมีในปริมาณสูงจนเกิดอันตราย ทุกคนจึงลงความเห็นว่าจะ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี และสร้างอาชีพเสริมด้วยการ “ปลูกผักปลอดสารเคมี” ควบคู่กับการทำนา

              พื้นที่หัวไร่ปลายนา หรือพื้นที่เล็กๆ หลังบ้าน จึงถูกเนรมิตให้เป็นแปลงผักปลอดสาร ปลูกหมุนเวียนตามฤดู สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางรายถึงกับจะเลิกทำนาเพื่อหันมาปลูกผักปลอดสารอย่างจริงจัง

             สุวรรณ กาฬการ และ สิริวรรณ สายด้วง  ประกอบอาชีพทำนา เนรมิตพื้นที่หลังบ้าน 1-2 งานให้กลายเป็นแปลงผักปลอดสารพิษ ส่งขายทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เป็นรายได้เสริมเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท

                 สุวรรณ บอกว่า การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายปลูกผักปลอดสาร เพื่อให้ได้ผักที่หลากหลายแตกต่างกันไป จะได้กระจายรายได้ทั่วถึงกัน ซึ่งตอนนี้มีสมาชิก 35 คน บางคนถนัดปลูกไม่เหมือนกัน และดินเหมาะสมไม่เหมือนกันด้วยอย่าง สุวรรณ จะปลูกถั่ว ชะอม มะระ แตงกวา และอื่นๆ หมุนเวียนตามฤดูกาล เพื่อให้มีรายได้เข้าทุกเดือน ผักที่มีอายุพอจะขายได้ก็รวบรวมผลผลิตส่งตามยอดสั่งซื้อ บางส่วนจะนำมาขายตลาดภายในหมู่บ้าน

             ขณะที่สิริวรรณ บอกถึงการดูแลการผลิต ว่าผักที่ปลูกจะไม่ใช้สารเคมีแต่จะใช้น้ำหมักชีวภาพในการบำรุงพืชผักและไล่แมลงทั้งหมด เช่น ฮอร์โมนไข่น้ำหมักหัวไชเท้า ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยไส้เดือนที่เลี้ยงไว้เอง

             “ปลูกผักปลอดสารขั้นตอนดูแลยาก ต้องใส่ใจเหมือนลูก ต้องคอยไปดูทุกเช้าเย็น แต่ผลผลิตและรายได้ดีกว่าการทำนาด้วยซ้ำ ผักที่ปลูกมั่นใจได้ว่าปลอดสาร ดีต่อคนปลูกและคนกินแน่นอน” สิริวรรณ ยืนยัน

               จากการริเริ่มปลูกผักปลอดสารของเกษตรกรตำบลสิงหนาทอย่างจริงจังเมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนี้ผักปลอดสารของที่นี่จึงเป็นที่ยอมรับของตลาดในประเทศและยังไปไกลถึงต่างประเทศอีกด้วย

              อย่างไรก็ตามผักปลอดสารของตำบลสิงหนาทจะไม่เป็นที่รู้จักและยอมรับหากปราศจากชายที่ชื่อ ชัยวิทย์ พีเทียรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสิงหนาท ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดของชาวตำบลสิงหนาทในการเอาตัวรอดจากภาวะราคาข้าวที่ตกต่ำ

                นายกอบต.สิงหนาท กล่าวว่า อาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ที่ชาวบ้านตำบลสิงหนาททำกัน ที่ผ่านมาประสบภาวะขาดทุนมาต่อเนื่อง เพราะข้าวราคาตกต่ำ ไม่คุ้มต้นทุน ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าปุ๋ย ค่ายา ดังนั้นจึงมาร่วมกันคิดหาทางออก ว่าจะช่วยพี่น้องเกษตรกรได้อย่างไร จึงลองทำการเกษตรแบบอินทรีย์เมื่อ 4 ปีก่อน โดยการส่งเสริมให้มีการใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า แม้จะให้ผลผลิตน้อย แต่ก็ให้กำไรมากกว่า ขณะเดียวกันยังได้การสนับสนุนให้มีการทำอาชีพเสริม เช่น ปลูกผัก เลี้ยงปลา นอกจากการทำนา 

               ขณะเดียวกันได้ต่อยอดไปทำโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน ซึ่งตำบลสิงหนาทได้เข้าร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ ให้รู้จักทำการเกษตรแบบปลอดภัย มีต้นทุนการผลิตต่ำ และผลิตโดยคำนึงถึงตลาดที่จะขายด้วย

              ชัยวิทย์ยืนยันด้วยว่าขณะนี้เตรียมประกาศให้ตำบลสิงหนาทเป็น “ตำบลอาหารปลอดภัย” โดยการพัฒนากลุ่มอาชีพ กลุ่มปลูกผัก กลุ่มประมง และกลุ่มผลิตข้าว ให้ผลิตสินค้าที่ปลอดภัยจากสารเคมี และต่อไปจะทำฉลากเพื่อนำไปติดสินค้าของตำบล เพื่อเป็นเครื่องการันตีให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้รับประทานอาหารปลอดภัย

               “เกษตรกรยุคใหม่ต้องปรับตัว จะทำวิถีเดิมๆ ไม่ได้ ต้องเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ พร้อมกับพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาและต้องนำเด็กรุ่นใหม่ซึ่งมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีและการตลาดเข้ามาช่วยด้วย จึงจะอยู่รอด และในฐานะผู้นำต้องเป็นต้นแบบ ทำให้เขาเห็นก่อน ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่ทำ ไปบอกอย่างเดียวเขาไม่เชื่อหรอก” นายกอบต.สิงหนาทกล่าวทิ้งท้าย

              สิงหนาท ถือเป็นตำบลต้นแบบที่มีผู้นำที่เข้มแข็งและเครือข่ายที่เข้มแข็งนำมาซึ่งความร่วมมือของเกษตรกรทั้งตำบลด้วย “ใจเดียวกัน” ทำให้เป้าหมาย “ตำบลอาหารปลอดภัย” คงไม่ไกลเกินเอื้อม 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ