ข่าว

"หนองแวงโมเดล"ฝายประชารัฐแห่งแรกกั้นลำน้ำชีชุบชีวีเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หนองแวงโมเดล"ฝายประชารัฐแห่งแรกกั้นลำน้ำชีชุบชีวีเกษตรกร

ปี 2558  บริเวณลำน้ำชี สายเลือดหลักของภาคอีสาน ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ แห้งแล้งไม่มีน้ำเลย

ฝายหินทิ้งสร้างมาก็พังทลายจากสายน้ำหลากทุกปี ไม่มีน้ำเหลือในลำน้ำ แพสูบน้ำหรือสถานีสูบน้ำวางแหมะอยู่บนพื้นทรายก้นลำน้ำอย่างไม่น่าเชื่อ

            ชาวบ้านโดยการนำของนายนิยม อบมาลี  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง เดินทางมาขอคำปรึกษาจากโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น

"หนองแวงโมเดล"ฝายประชารัฐแห่งแรกกั้นลำน้ำชีชุบชีวีเกษตรกร

            ว่ากันซื่อๆ โครงการก่อสร้างก็คือโครงการชลประทานขนาดเล็กนั่นเอง

เหมือนถูกที่ถูกทางถูกเวลา ที่ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างชื่อ นายภัทรพล ณ หนองคาย

            ในขณะนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำหรับภัยแล้งปีนั้น ให้พยายามลดรายจ่ายเกษตรกรลง  พร้อมๆ กับรัฐบาลให้ทำงานสอดประสานเป็นนโยบายประชารัฐ

            เอาตามระบบราชการ จะสร้างฝายหลักสักตัวต้องรองบประมาณ ไม่รู้ได้เมื่อไหร่ ในขณะความเดือดร้อนไม่เคยรอใคร

ทางที่ดีจับมือกันทำฝายประชารัฐกันดีกว่า  อบต.เจียดงบกว่า 5 แสนบาท ราษฎรลงแรงก่อสร้าง  กรมชลประทานออกแบบฝายที่แข็งแรงภายใต้งบกว่า 5 แสนบาท ปีนั้นมีจิตอาสาทั้งนายช่างชลประทานเกษียณ นักประดิษฐ์ นักส่งเสริมการเกษตร สื่อมวลชน รวม 7 คน  รวมตัวเป็น “ศูนย์อาสาบรรเทาภัยแล้ง” อยู่ภายใต้โครงการก่อสร้างกระโดดเข้ามาช่วยบรรเทาภัยแล้งครั้งนี้

"หนองแวงโมเดล"ฝายประชารัฐแห่งแรกกั้นลำน้ำชีชุบชีวีเกษตรกร

          การออกแบบฝายประชารัฐจึงไม่ยากนัก  เป็นเทคนิคการก่อสร้างที่เรียกว่า ซอยล์ ซิเมนต์ (Soil Cement) หรือดินในจุดก่อสร้างผสมผงปูซิเมนต์นั่นเอง โดยขุดร่องแกนฝายลึกลงไปถึงชั้นทึบน้ำ และสร้างหูฝายเจาะเข้าไปหาฝั่งทั้งข้าง ทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและมั่นคงแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้ยาวนาน

              เพราะฝายที่ทำโดยราษฎรที่เป็นฝายชะลอน้ำชั่วคราวก็อายุสั้น ฝายของท้องถิ่นเองก็ไม่มีเทคนิคและวิชาการช่วยจึงพังทลายลง ใช้ไม่คุ้มประโยชน์ ในขณะฝายของกรมชลประทานชนิดเต็มรูปแบบต้องใช้งบ 30 ล้านบาทขึ้นไป

              ฝายหนองแวง จึงถือกำเนิดเป็นฝายประชารัฐแห่งแรกของ 5 จังหวัด ในสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และชัยภูมิ

            แข็งแรงไหมก็ใช้มา 3 ฤดูน้ำหลากแล้ว เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ด้วยขนาดความกว้างตามลำน้ำชี 20 เมตร สันฝายกว้าง 1 เมตร สูง 2.50 เมตร สูบน้ำผ่านสถานีสูบวันละ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ประมาณว่าทั้งปีใช้น้ำได้ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำท่า 700 ล้านลูกบาศก์เมตร

             “ขอแรงชาวบ้าน ก็มาให้กันวันละ 200-300 คน ทำถึงตีหนึ่งตีสองทุกคืน เพื่อเร่งหนีน้ำหลากท่วมลงมา  ทีมจิตอาสาของโครงการก่อสร้างไม่หนี ชาวบ้านจะหนีได้ยังไง ที่สุดฝายก็สำเร็จจนได้” นายนิคม อบมาลี  นายก อบต.หนองแวงเล่า

            เป็นความแปลกที่ความเดือดร้อนเรื่องน้ำ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันได้ และกลายเป็นพลังสำคัญในชั้นหลัง

            การมีน้ำยังไม่ตอบโจทย์เท่ากับการใช้น้ำไปทำอะไร อย่างไร

"หนองแวงโมเดล"ฝายประชารัฐแห่งแรกกั้นลำน้ำชีชุบชีวีเกษตรกร

                นายภัทรพล ณ หนองคาย ผอ.โครงการก่อสร้าง ดึงทีมศูนย์บรรเทาภัยแล้งมาสังเคราะห์ความคิดซึ่งตรงกันคือต้องใช้ศาสตร์พระราชาในการเกษตร เป็นเกษตรผสมผสาน เท่านั้นไม่พอ ยังต้องใช้น้ำเกิดประโยชน์สุงสุดคือระบบชลประทานน้ำหยด และกระบวนท่าต้องเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ประหยัดค่าใช้จ่าย

             ทีมงานส่วนหนึ่งคิดค้นระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ ราคาประหยัด ซื้อหาได้ง่าย ใช้ร่วมกับปั๊มชักที่เกษตรกรมีใช้อยู่แล้ว เพิ่มแบตเตอรี่ และใช้ระบบเจ็ทช่วยในการสูบน้ำ

              ศาสตร์พระราชาต้องมีสระเก็บน้ำที่จะสูบจากฝายขึ้นมา เท่านั้นไม่พอยังเพิ่มบ่อบาดาล เพื่อสร้างความมั่นคงอีกชั้นหนึ่ง บางช่วงน้ำสระแห้งก็ใช้น้ำบาดาลได้ อีกทั้งเมื่อมีฝายหนองแวงประชารัฐแล้ว ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น บ่อบาดาลพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ใช้ได้ทั้งกับสระและบ่อบาดาล สนนราคาทั้งชุดประมาณ 30,000 บาท เทียบกับระบบอิเลคทรอนิกส์ นับ 100,000 บาท แถมเมื่อเสียก็สามารถซ่อมเองได้ ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งชุด

             โครงการก่อสร้างร่วมกับชาวบ้าน จัดทำศูนย์เรียนรู้เกษตรบ้านหนองแวงขึ้นในพื้นที่ 15 ไร่ จากร่วม 100 ไร่ ปลูกสารพัดอย่างนอกเหนือจากที่เจ้าของเดิม นายอารี  ศรีนวลจันทร์       ปลูกเฉพาะข้าวและอ้อยแค่
สองอย่าง เป็นปลูกทุกอย่างที่กินได้ ขายได้ ทั้งมะละกอ มะนาว พริก มะเขือ กล้วย และฯลฯ เขียวชอุ่มลิบตา ชนิดที่เงินแทบไม่ออกจากกระเป๋า หากแต่มีเงินไหลเข้ามากกว่า

            “วันหนึ่ง ผมมีรายได้ 500-1,000 บาท เก็บนั่นขายนี่ แล้วก็มีข้าวกิน มีเงินรายได้จากอ้อยอีก ดีครับ แต่ก่อนไม่มีน้ำก็ลำบาก” นายอารีพูดพร้อมทั้งชี้มือไปที่สระน้ำ 3 ลูก เพราะเป็นคนขยันจึงทดลองปลูกทุเรียน 8-9 ต้น เผื่อได้ผล เพราะมีน้ำสมบูรณ์แล้ว

              นายภัทรพลกล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับหนองแวงโมเดล คือการที่เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอด 12 เดือน จากฝายและแหล่งน้ำสำรอง โดยเฉพาะด้วยระบบน้ำหยดที่ประหยัดน้ำ แต่เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก

"หนองแวงโมเดล"ฝายประชารัฐแห่งแรกกั้นลำน้ำชีชุบชีวีเกษตรกร

               “ปกติเกษตรกรทำการเกษตรปีละ 4-6 เดือนจากนั้นต้องออกไปขายแรงงานต่างถิ่น แต่พอมีน้ำ เขาทำการเกษตรได้ทั้ง 12 เดือน แถมระบบน้ำหยดยังสามารถใช้เครื่องตั้งเวลา ทำให้มีเวลาไปทำงานอื่นได้ด้วย ตรงนี้ถือเป็นชัยชนะของเกษตรกร แถมยังเป็นการเกษตร 4.0 อีกด้วยที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตต้นทุนต่ำ ไม่ใช่แค่จอบและเสียมแค่สองอย่าง”

               นอกจากนั้น ยังแหวกกรอบความคิดการทำเกษตรไปสู่พืชที่มีอนาคต เช่น มันญี่ปุ่น องุ่น ที่สามารถใช้ระบบน้ำหยดได้ และจำกัดพื้นที่ปลูกไม่มากนัก หากเสียหายก็จำกัดวงได้

            หนองแวงโมเดลยังขยายตัวไปรอบๆ หนองแวง และกระจายไปสู่ท้องที่อื่นในสำนักงานชลประทานที่ 6 จำนวน 5 จังหวัด พร้อมกับเทคนิคฝาย ซอยล์ ซิเมนต์ ราคาถูก  แต่มั่นคงแข็งแรง

            ปัจจุบันฝายรูปแบบนี้กระจายไปใน 47 แห่งทั้ง 5 จังหวัด ไม่นับรวมกับที่เอาแบบไปประยุกต์ก่อสร้างเอง

            ความสำเร็จของฝายประชารัฐ ไม่เพียงแค่มีคนมาดูงานตลอดทั้งปี มาศึกษาทั้งฝายและการใช้เทคโนโลยีชาวบ้านในการสูบน้ำ ให้น้ำแล้ว ส่วนของหนองแวง โมเดล ก็มีเกษตรกรจากที่อื่นสนใจเข้ามาศึกษาเช่นกัน

            ถ้าอีสานสามารถหาแหล่งน้ำได้โดยผ่านระบบฝาย ใช้น้ำด้วยระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ และทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วยระบบน้ำหยด  ภาพของอีสานก็น่าจะเปลี่ยนโฉมเป็นอีสานเขียวที่มั่นคง และมั่งคั่งตามมา

            เป็นชัยชนะแท้จริงของประชาชน

           

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ