ข่าว

อาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร

 

            การประชุมวิชาการระดับชาติเพื่อการจัดการสารเคมีครั้งที่ 1 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมามีเป้าหมายหลัก คือ “ร่วมขับเคลื่อนการจัดการสารเคมีไทยให้ปลอดภัย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนควรใส่ใจและให้การสนับสนุน

            แต่รู้สึกแปลกใจเมื่อได้ฟังข้อเสนอจากที่ประชุมฯ ในหัวข้อการปฏิรูประบบความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะหัวข้อแรก เรื่องอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการ แต่ได้มีการประกาศยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย 5 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส คาร์โบฟูราน และเมทโทมิล เป็นเป้าหมายที่สำคัญ เสียดายที่ผู้บรรยายไม่ได้อธิบายว่าสารเหล่านี้อันตรายอย่างไร เพราะเท่าที่รู้สารเหล่านี้ ที่ฉลากจำหน่ายแถบสีเหลืองหรือสีน้ำเงิน ซึ่งแสดงว่ามีพิษปานกลางและมีพิษน้อย

            เหตุผลที่สำคัญอาจสืบเนื่องมาจากการประกาศของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่ประกาศจะยกเลิกการนำเข้าของสารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส ในเดือนธันวาคม 2560 และยกเลิกการใช้ในปี 2562 สำหรับไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้เฉพาะบางพื้นที่

            สำหรับสารป้องกันกำจัดแมลง คือ คาร์โบฟูรานและเมทโทมิล อีก 2 ชนิด ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยกเลิกใช้เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ 2 ชนิดนี้ ยังไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 (แก้ไขปี 2551) แต่ก็ยังพบเห็นเมทโทมิลวางจำหน่ายตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป

     ตามที่ประเทศไทยต้องมีกฏหมายควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืช เพราะเป็นพันธะสัญญากับองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ แต่การที่ประเทศต่างๆ จะยกเลิกหรือห้ามใช้สารเคมีบางชนิดนั้นเป็นดุลยพินิจของรัฐบาลแต่ละประเทศต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม ตามความจำเป็น ตามสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ดังนั้น มีบางประเทศอาจยกเลิกหรือห้ามใช้สารดังกล่าวข้างต้นได้ตามเหตุผลและความจำเป็นของแต่ละประเทศ

            การที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซตนับว่ามีความเสี่ยงมาก แต่จะทำได้หรือไม่นั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ทั้งนี้เพราะสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและปริมาณฝนตกมากของประเทศไทย ทำให้วัชพืชหลายชนิดเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งในการทำเกษตรกรรม ประกอบกับแรงงานหายากและมีค่าแรงค่อนข้างสูง เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดวัชพืช อาจให้ก่อนปลูกและหลังการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด ไม้ผลต่างๆ และยางพารา ผลผลิตที่ได้เหล่านี้ใช้บริโภคทั้งภายในประเทศและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายชนิด ขณะนี้ไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะนำมาทดแทนสารกำจัดวัชพืชทั้ง 2 ชนิดได้ แม้จะมีบ้างแต่ประสิทธิภาพด้อยกว่าและมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าเกษตรกรจะแบกภาระได้ เกษตรกรอาจต้องเลิกปลูกพืชเศรษฐกิจดังกล่าว แล้วหันไปทำอาชีพอื่น แล้วใครจะรับผิดชอบ ความมั่นคงอาหารจะเป็นไปได้อย่างไร

            สำหรับสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ประเทศไทยได้ยกเลิกสารกำจัดศัตรูพืชมาแล้วนับร้อยชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารกำจัดแมลง โดยเฉพาะกลุ่มดีดีที (DDT) และกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารคลอร์ไพรีฟอส เป็นกลุ่มสารออร์กาโนฟอสเฟตที่เหลือยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯ ให้จำหน่ายได้ ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะกำจัดแมลงศัตรูพืชได้มากชนิด ราคาถูก ออกฤทธิ์นาน เนื่องจากออกฤทธิ์นานจึงถูกกล่าวหาว่ามีปัญหาสารตกค้างในพืชอาหาร  แล้วทำไมไม่กำหนดระยะ เว้นการฉีดพ่นในฉลากหรือให้ความรู้แก่เกษตรกรว่าควรเว้นระยะฉีดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่น้อยกว่า 15 วัน ที่อ้างว่าต่างประเทศไม่อนุญาตให้ใช้ในพืชอาหารก็ไม่เป็นความจริง ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และยุโรปก็ยังใช้อยู่

            การยกเลิกคลอร์ไพรีฟอส เป็นการบังคับให้เกษตรกรต้องหันมาพึ่งพาสารเคมีกลุ่มใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว ยังมีประสิทธิภาพค่อนข้างจำกัด เฉพาะแมลงบางกลุ่มและยังอาจเกิดปัญหาเรื่องมีพิษสูงต่อผึ้ง ต่อ แตน ที่หลายประเทศในยุโรปกำลังห้ามใช้ เพราะอาจส่งผลให้ผลผลิตของไม้ผลและธัญพืชหลายชนิดลดลง

            การใช้สารกำจัดศัตรูพืช เพื่อรักษาผลผลิตและคุณภาพของผลผลิต เป็นการสร้างเสถียรภาพของการผลิต และความมั่นคงทางอาหารและพลังงานเพื่อให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น เป็นการลดแรงงานของเกษตรกรทำให้สามารถผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ประมาณมากขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดการทำลายป่าไม้เพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม

            การพิจารณายกเลิกสารกำจัดศัตรูพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เมื่อพิจารณาให้รอบคอบดีแล้ว โดยการรับฟังความคิดเป็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ควรคำนึงถึงประโยชน์และโทษอันเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ใช้และปัญหาด้านอันตรายและความเสี่ยงจากการใช้สามารถบริหารจัดการได้ และยังไม่มีผลิตภัณฑ์อื่นที่จะนำมาทดแทนได้ ก็ไม่สมควรที่ยกเลิกแต่อาจมีมาตรการควบคุมการใช้ให้รัดกุมมากขึ้น มิฉะนั้นจะสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้และเสี่ยงต่อความเสียหายของผลิตผลที่จะได้รับจากการคุกคามของศัตรูพืช ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ