ข่าว

   "คนพร้าวรักษ์ป่า"รวมพลังเครือข่าย"ธรรมชาติปลอดภัย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

   "คนพร้าวรักษ์ป่า"รวมพลังเครือข่าย"ธรรมชาติปลอดภัย"

                    เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหามหาราชินี ปี 2560 หรือวันแม่แห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) และภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่และใกล้เคียงจัดกิจกรรม “คนพร้าวรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ถวายแม่พระของแผ่นดิน” ณ บริเวณสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยม่อนล้าน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษาและสนองพระราชกระแสรับสั่งให้ทุกคนหวงแหนผืนป่าคืนความสมบูรณ์สู่พื้นที่ต้นน้ำ 

              “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์ขึ้นเหนือร่วมกิจกรรมปลูกป่าถวายแม่พระของแผ่นดิน ตามโครงการ “คนพร้าวรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดิน” บริเวณสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยม่อนล้าน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ นำโดย จงกล เหลืองอ่อน รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด ในฐานะประธานโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 3,000 คน  

   "คนพร้าวรักษ์ป่า"รวมพลังเครือข่าย"ธรรมชาติปลอดภัย"

              จงกล เล่าว่า โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีโอกาสเข้ามาสนับสนุนการทำงานของอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา ร่วมกับประชาคมใน อ.พร้าว มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในเขตอุทยานฯ และขอคืนพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถแก้ปัญหาการรุกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                “ตอนแรกทางซีพีจะให้มาทำโครงการปลูกป่า ผมบอกว่าถ้าปลูกป่ามันไม่ยั่งยืน ปลูกปีละครั้ง ปลูกเสร็จแล้วก็ไปไม่มีใครดูแลต่อ อยากให้เปลี่ยนจากปลูกป่ามาเป็นการรักษาพื้นที่ป่าไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายจะดีกว่า ส่วนที่ถูกบุกรุกไปแล้วก็ค่อยมาว่ากันใหม่ แต่ที่สำคัญของเดิมต้องยังอยู่ไม่ถูกทำลาย”

             เขายอมรับว่าใช้เวลากว่า 5 ปีในการเข้ามาสัมผัสพื้นที่ จนทำให้เห็นสภาพปัญหาต่างๆ ก่อนนำมากำหนดแนวทางการทำงาน โดยเริ่มจากสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อย่างเช่น เครื่องจีพีเอส เพื่อตรวจสอบแนวเขตพื้นที่บุกรุกที่ชัดเจน ขณะเดียวกันร่วมทำประชาคมกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อต้องการทราบปัญหาที่แท้จริง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี 

              “สิ่งที่เราทำมี 4 เรื่อง ประการแรก ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่คนในพื้นที่ให้รู้จักรักหวงแหนป่า ประการต่อมาดูแลเจ้าหน้าที่ สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งที่เขาขาดมีอะไรเราก็จัดหาไปให้เพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการที่สาม ต้องมีกิจกรรมปลูกป่าร่วมกันในทุกเทศกาลหรือเมื่อมีโอกาสและสุดท้ายก็ต้องจัดหาอาชีพเพื่อให้เขามีรายได้ ไม่ต้องไปรุกป่าหรือทำไร่เลื่อนลอย อย่างที่พร้าวเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมชั้นดี ปลูกมะม่วงมีคุณภาพ เพราะเราไปช่วยดูแล ผลผลิตออกมาเท่าไหร่ซีพีรับซื้อหมด มะม่วงน้ำดอกไม้ที่นี่คุณภาพส่งออกนะครับ” จงกล เผยกลวิธีสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายหันมาดูแลรักษาผืนป่าอย่างจริงจัง ระหว่างนำเยี่ยมชมพื้นที่ปลูกป่ารวมระยะทางกว่า 52 กิโลเมตร ใช้ต้นกล้าประมาณ 2 หมื่นต้น

              จงกล ย้ำด้วยว่า สำหรับกิจกรรมคนพร้าวรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดินในครั้งนี้นับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่ต้องการปลูกจิตสำนึกรักและปกป้องหวงแหนธรรมชาติให้คงอยู่ พร้อมกับการช่วยกันฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลาย โดยเริ่มจากที่ตัวเรา รอบบ้านเรา ในชุมชนเรา จึงนำไปสู่การคงอยู่ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

               จากนั้นได้ร่วมกับ ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด ในฐานะประธานกลุ่มคนพร้าวรักษ์ป่าร่วมกันปลูกต้นซากุระ รัฐบาลญี่ปุ่นน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2560 จำนวน 5 ต้น มาปลูกไว้เป็นที่ระลึกบริเวณสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยม่อนล้านด้วย

              อธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า แผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ป่าถูกทำลายนับหมื่นไร่ หากไม่เร่งหยุดยั้งก็จะถูกบุกรุกเกิดความเสียหายเพิ่มมากยิ่งขึ้น จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำที่สำคัญไหลลงสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา  อีกทั้งยังต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่ ด้วย        

               ขณะที่ พระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด อ.พร้าว ในฐานะประธานกลุ่มคนพร้าวรักษ์ป่า กล่าวถึงแนวทางการป้องกันและรักษาป่าอย่างยั่งยืนว่าจะต้องปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนรู้จักโทษของการทำลายป่า โดยทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ขณะเดียวกันก็ต้องนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจังกับคนที่บุกรุก และที่สำคัญเจ้าหน้าที่จะต้องไม่กระทำผิดเสียเอง

                “ที่นี่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึง 2 ครั้ง ในปี 2547 และ 2548 อาตมาเองได้สนองพระราชกระแสรับสั่ง โดยการทำให้เป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้าน บวชป่า 1,000 ไร่ จนเป็นที่มาของพร้าวโมเดลในวันนี้ และยังมีโครงการขายแนวคิดนี้ไปยังเขตรอยต่อในพื้นที่อำเภอใกล้เคียงด้วย ได้แก่ เชียงดาว ไชยปราการและแม่แตงต่อไป” พระนักพัฒนากล่าวย้ำทิ้งท้าย

                                             ........................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ