ข่าว

"ตรานกยูงพระราชทาน”การันตีคุณภาพไหมไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ตรานกยูงพระราชทาน”การันตีคุณภาพ น้ำพระราชหฤทัยจาก“พระมารดาแห่งไหมไทย”

 

ไม่เพียงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผ้าไหมไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็งสำหรับผ้าไหมไทย “ตรานกยูงพระราชทาน” ผลิตภัณฑ์ชิ้นเอกที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานเครื่องหมายรับรองคุณภาพตรา “นกยูง” จนมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักในระดับสากล

จึงไม่แปลกที่ผ้าไหมไทยเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งในด้านความสวยงามและมีเอกลักษณ์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และสืบสานไว้ให้คงอยู่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ตลอดไป สมดังตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

"ตรานกยูงพระราชทาน”การันตีคุณภาพไหมไทย

“ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ไปดูการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานที่กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมจัดใหญ่เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 12 สิงหาคม 2560 โดย สุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนบอกว่า เป็นผลอานิสงส์มาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อวงการหม่อนไหมไทยและเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ทำให้ไหมไทยมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จากนั้นในปี 2555 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระเกียรติคุณของพระองค์

"ตรานกยูงพระราชทาน”การันตีคุณภาพไหมไทย

อธิบดีกรมหม่อนไหม ย้อนความเป็นมาของเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน ว่า สืบเนื่องจากปัญหาการนำเข้าเส้นไหมและเส้นใยสังเคราะห์อื่นจากต่างประเทศมาผลิตผ้าไหม และใช้สัญลักษณ์คำว่า “ไหมไทย” เพื่อการค้า ทำให้ผู้ซื้อเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพผ้าไหมไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยและตระหนักถึงปัญหานี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องหมาย “นกยูงไทย” ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 4 ชนิด ได้แก่ ตรานกยูงพระราชทานสีทอง สีเงิน สีน้ำเงิน และสีเขียว เพื่อให้มีการใช้เครื่องหมายรับรองอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยแก้ปัญหาด้านมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้วย โดยเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานที่จะให้ผู้ผลิตนั้น จะเน้นคุณสมบัติของวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตเป็นหลัก

สำหรับเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย “ตรานกยูงพระราชทาน” 4 ชนิด ประกอบด้วย นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) และนกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) สำหรับ นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นั้น เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตจากวัตถุดิบ เส้นไหม กระบวนการผลิตแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริงและใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมจะต้องสาวเส้นด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ การทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

ส่วน นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตขึ้นแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือที่ได้รับการปรับปรุงจากพันธุ์ไทยเป็นเส้นพุ่งหรือเส้นยืน เส้นไหมต้องผ่านการสาวด้วยมือ หรืออุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนขนาดไม่เกิน 5 แรงม้า การทอต้องทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุก และต้องทำการผลิตในประเทศไทยเช่นกัน

ขณะที่ นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยโดยการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิตให้เข้ากับสมัยนิยมและทางธุรกิจธุรกิจ ใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ และต้องผลิตในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

และสุดท้าย นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย เช่น ลวดลาย สีสัน ใช้เส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากวัสดุธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน หรือตามความต้องการของผู้บริโภค โดยนกยูงสีเขียวนี้มีเส้นไหมแท้เป็นองค์ประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง สัดส่วนการใช้เส้นใยชนิดอื่นประกอบต้องระบุให้ชัดเจน ทอด้วยกี่ชนิดใดก็ได้ ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทย

ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานให้แพร่หลายทั่วโลก มีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ จีน นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินเดีย และฮ่องกง 

นอกจากนี้กรมหม่อนไหมยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานการรับรองผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน เพื่อให้สมกับเป็นตราสัญลักษณ์พระราชทานจากพระมารดาแห่งไหมไทย ที่พระราชทานไว้เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศไทย

กรมหม่อนไหมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 12 สิงหาคม 2560 จึงได้จัดกิจกรรม “สืบสานงานพระมารดา แห่งไหมไทย” ทั้งในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั่วประเทศ ตลอดเดือนสิงหาคม

....................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ