ข่าว

พด. เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พด. เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสาน

 

       นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 5-29 กรกฎาคม 2560 ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำไหลหลากใน 42จังหวัด รวม 182 อำเภอ  775 ตำบล ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว 23 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 19 จังหวัด รวม 113 อำเภอ 575 ตำบล โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ชัยภูมิ และอุดรธานี ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา และเพชรบูรณ์  ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ทำให้พี่น้องประชาชนและเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวาง เบื้องต้นกรมฯ ได้มอบหมายให้นายภิญโญ สุวรรณชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดในสังกัด ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน เป็นผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน บูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ลงพื้นที่เพื่อสร้างขวัญและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับกระทบจากพายุโซนร้อนทันที พร้อมมอบถึงยังชีพให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ภายหลังสถานการณ์น้ำได้ลดลงสู่ภาวะปกติ จะได้เร่งทำการฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ต่อไป
               คำแนะนำสำหรับพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้ความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วมนั้น ภายหลังน้ำลดลงและมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มที่เป็นนาข้าว เกษตรกรควรรีบทำการระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุดปล่อยให้ดินแห้งเพื่อไม่ให้ต้นข้าวเน่าตาย ให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 อัตรา 5 ลิตร/ไร่ ใส่ในนาข้าวเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตในกรณีน้ำท่วมขังแปลงนาต้นข้าวเน่าตาย หรือบ้านเรือนชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเมือง มีน้ำนิ่งท่วมขัง เน่าเหม็น ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสีย เพื่อช่วยขจัดกลิ่นเหม็น โดยใช้อัตรา 1 ลิตร ต่อปริมาณน้ำในนา 10 ลูกบาศก์เมตร ทุก 10 วัน หรือถ้ามีกลิ่นเหม็นมากใส่ทุก 3 วัน จนกว่าจะหมดกลิ่นเหม็นที่มีน้ำเน่าท่วมขัง สำหรับสวนไม้ผลให้ทำทางระบายน้ำให้น้ำไหลออก ห้ามนำเครื่องจักรหนักเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่ และห้ามเข้าเหยียบย่ำโคนต้นไม้เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมจะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทำลายและเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ทำให้ดินขาดอากาศต้นไม้เกิดการทรุดโทรม ถ้าต้นไม้จะล้มให้ทำไม้ค้ำยัน เมื่อดินแห้งแล้วให้พรวนดินเพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น หากพบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา แนะให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 ที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในต้นพืชได้อย่างดีและให้มีการพักดินในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสักระยะหนึ่ง ซึ่งการพักดินเป็นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีหนึ่งโดยอาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า เป็นต้น วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ นอกจากจะเหมาะกับกับการฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลดลงแล้ว ยังเหมาะสำหรับการเตรียมการไว้ก่อนน้ำท่วมอีกด้วยในบริเวณที่แน่ใจว่าจะมีน้ำท่วมขัง ในปลายฤดูฝนก็อาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ก่อน หรือปลูกพืชไร่อายุสั้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนจะมีน้ำท่วมขัง โดยปลูกให้มีระยะถี่กว่าปกติ และวางแถวพืชขวางความลาดเทของพื้นที่ หรือวางขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้ทิ้งตอซังไว้ในพื้นที่โดยไม่ต้องไถกลบทั้งนี้ตอซังจะช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลบ่า ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้น้ำพัดพาออกไปจากพื้นที่ 
        นายสุรเดช กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเซินกา ได้สั่งการให้ทุกสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่ถือเป็นนโยบายการปฏิบัติที่สำคัญ ที่ต้องให้ความความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและเกษตรกรอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อเข้าไปช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้นก่อน รวมทั้งสร้างขวัญและสร้างกำลังใจแก่ทุกครอบครัว ส่วนการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายและพื้นที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ภายหลังสถานการณ์น้ำลดลงและได้มีการสำรวจจำนวนความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตรแล้ว ก็จะได้มีวางแผนการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อการแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรดินอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ทางการเกษตรได้มีการพัฒนากลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์และเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ทำการเพาะปลูกพืชต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ