ข่าว

  "ซินเจนทา"ติวเข้มใช้สาร‘อารักขาพืช’ภาคการเกษตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  "ซินเจนทา"ติวเข้มใช้สาร‘อารักขาพืช’ภาคการเกษตร

               คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช โรคและแมลง ยังมีความจำเป็นต่อภาคการเกษตรในบ้านเรา การอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในแรงงานภาคการเกษตรเกี่ยวกับการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ถือเป็นหัวใจสำคัญอันนำมาซึ่งความปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้กลุ่มบริษัท ซินเจนทา(ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีและเคมีภัณฑ์ด้านการเกษตรรายใหญ่ ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดอบรมความปลอดภัยในการทำงานแก่บุคลากรผู้ใช้แรงงานภาคการเกษตรในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และสระแก้วเพื่อลดความเสี่ยงแรงงานต่างด้าวจากการใช้สารอารักขาพืช โดยตั้งเป้าสิ้นปีนี้(2560) จำนวน 250 ราย 

               ดร.เบญจรงค์ วังคะฮาด ผู้จัดการติดตามดูแลผลิตภัณฑ์ กลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย เปิดเผยว่า ซินเจนทาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดอบรมความปลอดภัยในการทำงานเพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรในแรงงานภาคเกษตร ได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ฉีดพ่นที่ถูกต้อง ตลอดจนการปฐมพยาบาล โดยเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่เน้นให้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่เป้าหมายได้เรียนรู้เข้าใจถึงการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ด้วยวิธีการและเครื่องมือที่ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพได้

              จากสถิติที่รวบรวมโดย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เดือนกันยายน 2559 พบว่าปัจจุบันแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีสูงถึง 1,510,740 คน ในขณะที่สถิติจากทีดีอาร์ไอ หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ระบุว่า ประเทศไทยต้องจ้างแรงงานต่างด้าวในระดับล่างเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 95 เป็นแรงงานขาดทักษะ จากจำนวนแรงงานทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้ในปี 2558 เป็นแรงงานในภาคการเกษตรถึง 658,877 คน หรือร้อยละ 22 ของแรงงานต่างด้าวขาดทักษะทั้งหมดที่ไทยผ่อนผันให้ทำงานจากประเทศในอาเซียน คือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ซึ่งถ้าประเทศไทยยังไม่ปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยใช้เครื่องจักรกล (Mechanization) มาทดแทนแรงงานมากขึ้น การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอนาคตในภาพรวมในปี 2564 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า อาจจะถึง 4 ล้านคน ทำให้แรงงานต่างด้าวในภาคการเกษตรอาจจะมีมากกว่า 8 แสนคน

               การอบรมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ฉีดพ่นที่ถูกต้อง ตลอดจนชนิดของสารอารักขาพืชที่ต้องใช้ให้ถูกต้องตามคำแนะนำข้างฉลาก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นแก่เกษตรกรผู้ฉีดพ่นได้ โดยการอบรมครั้งนี้มีพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นที่แนวชายแดนที่มีแรงงานต่างด้าวประเภทไป–กลับ เดินทางเข้ามารับจ้างในภาคการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยเป้าหมายการอบรมจะสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเนื่องตลอดปี 2560 คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวได้รับความรู้กว่า 250 คน

                 ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 ซินเจนทาได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมให้ความรู้ด้านการอารักขาพืชแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันและผู้มีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นสารอารักขาพืชในพื้นที่ 2 จังหวัดคือ กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ที่เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มสำคัญของประเทศ 

               โดยในครั้งนั้น วัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ ผู้จัดการฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ระบุว่าเป็นโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เทคนิคการฉีดพ่นและความปลอดภัยในการประกอบอาชีพผู้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดวัชพืช สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคใต้นั้นเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างกรมวิชาการเกษตร และภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องการให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มเรียนรู้เทคนิคการฉีดพ่น และการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง ตลอดจนสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มอย่างยั่งยืนสากล ที่บริษัทซินเจนทาได้สนับสนุนให้ชาวสวนปาล์มเข้าสู่มาตรฐานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

               การจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกวิธี นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพกับผู้ใช้แรงงานในภาคการเกษตรนั่นเอง

                                                                            .............................................................

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ