ข่าว

"เยาวชน"สืบสานงานโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เยาวชน"สืบสานงานโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้

                  ในระหว่างวันที่ 18–24 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้จัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ หรือ RDPB CAMP รุ่นที่ 7 ขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนำเยาวชนจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการศึกษา เรียนรู้ และเติมเต็มประสบการณ์เพื่อสืบสานงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้แนวคิด รักษ์น้ำ รักษ์ป่า พัฒนาอาชีพ และได้จัดให้มีพิธีเปิดค่ายฯขึ้น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ มีเยาวชนจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จาก 25 สถาบัน จำนวน 100 คน พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สำนักงาน กปร. กับการสนองพระราชดำริ” และการบรรยายในหัวข้อศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ กับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม” โดย นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

"เยาวชน"สืบสานงานโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้

                นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ฯ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ฯ จำนวน 8 ครั้ง เมื่อก่อนหน้านี้พื้นที่แห่งนี้มีความแห้งแล้ง ป่าไม้เสื่อมโทรมเนื่องจากถูกบุกรุกแพ้วถางเพื่อใช้ประกอบอาชีพของราษฎร พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริในการฟื้นฟูป่าไม้ให้กับพื้นที่ 3 วิธีด้วยกัน คือ หนึ่งการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ใช้วิธีปลูกป่าในใจคน โดยทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความสำคัญของป่าไม้ ประการที่สอง ใช้วิธีปลูกป่าโดยใช้น้ำชลประทาน ประการที่ 3 คือปลูกป่าในแนวร่องห้วย โดยใช้ฝายต้นน้ำลำธาร หรือว่า Check dam พร้อมได้พระราชทานแนวพระราชดำริในเรื่องของการทำป่าชุมชน คือเรื่องของการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ด้ามจอบเสียม ทำหัตถกรรม หรือกระทั่งใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน)ในการหุงต้ม ป่าไม้กินได้ นำมาเป็นอาหาร ทั้งพืชกินใบ กินผล กินหัว และเป็นยาสมุนไพร ป่าไม้เศรษฐกิจเป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ซึ่งควรปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน และประโยชน์อย่างที่ 4 คือ การช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยความชื้นสู่พื้นที่เกษตรกรรม

"เยาวชน"สืบสานงานโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้

                  “ในด้านการดำเนินงานนั้นได้มีส่วนราชการจาก 11 หน่วยงาน จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาทำงานแบบบูรณาการ ทำการศึกษาค้นคว้าทดลองวิจัยเพื่อหาแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับภูมิภาค สอดคล้องกับภูมิประเทศ ตลอดถึงภูมิอากาศและวิถีชีวิตของพื้นที่ซึ่งเยาวชนที่เข้าค่ายฯ จะได้ศึกษาเรียนรู้และชมการสาธิตพร้อมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ที่ไม่มีในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่กับเกษตรกรซึ่งได้นำผลสำเร็จจากศูนย์ฯไปขยายผลและปฏิบัติใช้จนประสบความสำเร็จ นับเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เยาวชนจะได้รับจากการเข้าค่ายครั้งนี้”นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ฯ กล่าว

                 นางสาวอุบลวรรณ กงมะลิ เยาวชนจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก ที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายฯ ในครั้งนี้เปิดเผยว่า ตนรู้สึกตื้นตันใจกับกิจกรรม ตั้งแต่ช่วงแรกที่ได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำเพื่อประชาชนหลายอย่าง และระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายได้เกิดแรงบันดาลใจหลายประการด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือมีความรู้สึกว่า อาชีพเกษตรกรรมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และสามารถทำได้โดยไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นอาชีพที่ไม่มีวันอดตาย

"เยาวชน"สืบสานงานโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้

               “เมื่อได้มาฟังบรรยาย ก็ได้ความรู้ และแนวคิดในการทำการเกษตรใหม่ๆ ที่สามารถจัดการได้โดยทำให้เป็นระบบ ความรู้ครั้งนี้สามารถนำไปต่อยอดได้ ก็รู้สึกดีใจ ตอนนี้มีโครงการในใจแล้วที่จะนำไปทำในวิทยาลัย
ซึ่งเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยจะนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมภายในวิทยาลัย เพื่อเป็นแหล่งสาธิตและเรียนรู้ของนักศึกษาในวิทยาลัยต่อไป” นางสาวอุบลวรรณ กงมะลิ กล่าว

                 ส่วนนางสาวสาธิตา เขียวปัญญา จากวิทยาลัยเดียวกันบอกว่า ตั้งแต่ทำกิจกรรมในวิทยาลัยมา รู้สึกว่ากิจกรรมค่ายในครั้งนี้ได้ความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองและประเทศชาติ ทำให้เข้าใจในวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับสังคม ที่ไม่ใช่เราเป็นผู้กำหนด หากแต่เราเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการทำกิจกรรมในวิทยาลัยต่อไป

"เยาวชน"สืบสานงานโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้

                  “ตื้นตันใจที่พระองค์ทำอะไรมากมายเพื่อประชาชน ท่านจะต้องเหนื่อยขนาดนี้ด้วยหรือ ก็ดีใจที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินนี้ ในยุคในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้พระองค์ท่านจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่คำสอนของพระองค์ท่านสามารถนำไปใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย พระองค์ท่านจะอยู่ในใจของประชาชนคนไทยทุกคนชั่วกาลนาน” นางสาวสาธิตา เขียวปัญญา กล่าว

                   สำหรับโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ หรือ RDPB CAMP ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน กปร. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีเยาวชนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 2,000 คน ที่มาเข้าร่วมเรียนรู้งานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั่วประเทศ

                 การขยายผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ก่อเกิดจนเป็นเครือข่ายเยาวชนรู้งาน สืบสานพระราชดำริ ที่เข้มแข็ง มีการดำเนินการสืบสาน บูรณาการ และน้อมนำแนวพระราชดำริไปใช้ทั้งกับตนเอง ครอบครัว ตลอดถึงสถาบันการศึกษา และชุมชนอย่างกว้างขวาง อันเป็นที่ประจักษ์ในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดคุณภาพของบุคลากรของประเทศชาติ ในการนำพาสังคมก้าวเดินไปอย่างถูกทิศทาง และร่วมสานต่อพระราชดำริให้มีความยั่งยืนสืบไป

...............................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ