ข่าว

“เกษตร”ดันใช้เทคโนโลยีเสริมแรงงานระยะยาว 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เกษตร”ดันใช้เทคโนโลยีเสริมแรงงานระยะยาว   

 

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผย ว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ( KOFC) ได้ติดตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร มีแนวโน้มลดลงจากปี 2454 ที่มี14.88 ล้านคน เหลือ 11 ล้านคนในไตรมาสแรกปี60 และส่วนใหญ่เป็นแรงงานสูงอายุ เนื่องจากแรงงานวัยหนุ่มสาวย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน จึงเป็นเหตุให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและทดแทนแรงงานของไทย

ทั้งนี้การจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลและมาเช้าเย็นกลับยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงได้อย่างชัดเจน จึงเกิดปัญหาในการจัดการแรงงานภาคการเกษตร เป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย จึงส่งผลทำให้เกิด พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวขึ้น 

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ( KOFC) ได้ติดตามสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย พบว่า แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทย เดือน มิ.ย. 2560 มีทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเข้าเมืองตามมาตรา 9 พิสูจน์สัญชาติเดิม คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา 904,377 คน หรือ 58.03% รองลงมาคือ มาตรา 9 นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงหรือ MOU จำนวน 439,785 คน หรือ 28.22% มาตรา 9 ทั่วไป จำนวน 101,818คน หรือ 6.53% และประเภทอื่นๆ 7.55%

“แรงงานต่างด้าวสัญชาติที่ได้รับการจดทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ เมียนมา 982,467 คน รองลงมา คือ กัมพูชา 257,284 คน และ ลาว 108,908 คน หากพิจารณาถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในภาคเกษตร มีจำนวน 248,281 คน เป็นแรงงานภาคเกษตรและปศุสัตว์ 149,799 คน และแรงงานประมง 98,482 คน แบ่งเป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร กิจการประมง 17,655 คน กิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 80,827 คน ซึ่งเป็นแรงงานประมงทะเลจดทะเบียนใหม่ (1 เม.ย. - 19 มิ.ย. 58)” นายภูมิศักดิ์ กล่าว 

เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบจาก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ต่อภาคเกษตรไทย ในกรณีที่นายจ้างจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ช่วยให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบมากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งตามสถิติมีจำนวนคนต่างด้าวภาคเกษตรที่ได้รับอนุญาตทำงาน คงเหลือในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา 248,281 ราย ก่อให้เกิดผลด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17,876.23 ล้านบาท

นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ถูกจัดเก็บข้อมูลในระบบ ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือแรงงานเถื่อนเบื้องต้น พบว่า มีประมาณ 1 ล้านราย อยู่ในภาคเกษตร 17% หรือ 170,000 ราย โดยแรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเดินทางกลับประเทศหลังมีกฎหมายดังกล่าว ซึ่ง KOFC ความรุนแรงที่ขาดแรงงานกลุ่มนี้ไปมากที่สุด 15 % จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร 2,560.59 ล้านบาท แยกเป็นสินค้าพืชจำนวน 1,302.93 ล้านบาท สาขาประมง 734.40 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 523.26 ล้านบาท 

ในกรณีที่แรงงานดังกล่าวหายไป 10 % จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร 1,707.06 ล้านาท แยกเป็น สินค้าพืช จำนวน 868.62 ล้านบาท สาขาประมง 489.60 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 348.84 ล้านบาท และหากแรงงานเหล่านี้หายไป 5% จะผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร 853.53 ล้านบาท แยกเป็นสินค้าพืช จำนวน 434.31 ล้านบาท สาขาประมง 244.80 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 174.42 ล้านบาท 

ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ในระยะสั้น ควรปรับลดบทลงโทษหรือขยายระยะเวลาการนำ พ.ร.ก. มาใช้เนื่องจากบทลงโทษที่เกิดจาก พ.ร.ก. ที่กำหนดโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน นั้นรุนแรงและกะทันหัน เกิดปัญหาการปรับตัวไม่ทัน ส่งผลกระทบผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการที่ทำการเกษตรโดยการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย 

นอกจากนี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ลดความซับซ้อน ยุ่งยากเพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานมีความสะดวกมากขึ้น เช่น การให้บริการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้นายจ้าง ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายได้ทันระยะเวลาที่ภาครัฐพิจารณาขยายให้

ส่วนในระยะยาว ควรส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการเกษตรไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และ จัดงบประมาณในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยส่วนหนึ่งได้มาจากเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ได้จากการจดทะเบียนหรือต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่รัฐสมทบให้ นอกจากนี้ ให้มีเงินงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอต่อกิจกรรมการด้านต่าง ๆ ที่จะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้

นายวิษณุ อรรถวานิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบ ควรเป็นนโยบายที่ภาครัฐ จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากอีก 20 ปีข้างหน้า วัยแรงงานของประเทศจะหายไปอีกประมาณ 6 ล้านราย จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องวางแผนหาแรงงานเพื่อทดแทนแรงงานในกลุ่มนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากภาครัฐมีงบประมาณที่จำกัด

“ผมมองว่า ในแง่ของการประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากแรงงานต่างด้าวจะได้เข้าสู่ระบบมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ระบบจะช่วยลดปัญหาอื่นๆตามมา ทั้งการทุจริต จ่ายส่วย ปัญหาสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวอยู่ในระบบ จึงควบคุมได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกเดินไปในทางใด จะพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอีกอยู่หรือไม่ แล้วจะพึ่งพาอย่างไร แรงงานกลุ่มดังกล่าวจะเดินทางกลับประเทศตนเองหรือไม่ หากประเทศเหล่านั้นมีความเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้น”นายวิษณุ กล่าว

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ