ข่าว

เกษตรโชว์สุดยอดอ้อยพันธุ์ดี"ขอนแก่น3"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรโชว์สุดยอดอ้อยพันธุ์ดี"ขอนแก่น3"

 
                        นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า   การที่กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ประกาศรับรองพันธุ์และแนะนำส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยปลูกไปแล้วกว่า 30 พันธุ์ ช่วยเพิ่มทางเลือกพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และสร้างรายได้ให้เกษตรกรค่อนข้างมาก ขณะนี้มีพันธุ์อ้อยของกรมวิชาการเกษตรหนึ่งพันธุ์ที่ชาวไร่อ้อยนิยมปลูกอย่างแพร่หลายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คือ อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 ซึ่งพื้นที่ปลูกได้ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่ 60-70% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด เนื่องจากมีศักยภาพทั้งด้านการให้ผลผลิตสูง ทั้งยังมีความโดดเด่นเรื่องการทนแล้ง ทำให้เป็นที่ยอมรับและเกษตรกรมีความพึงพอใจมาก ส่งผลให้พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
                อ้อยพันธุ์ดังกล่าวนี้ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นได้คัดเลือกจากคู่ผสมของอ้อยโคลน 85-2-352 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์เค 84-200 (พันธุ์พ่อ)  โดยผสมพันธุ์และคัดเลือกครั้งแรกในปี 2537-2538 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี จากนั้นดำเนินการคัดเลือกครั้งที่ 2 และ 3 แล้วทำการเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น เปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน และผ่านการปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกร โดยกรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์รับรองเมื่อปี 2551  และเป็นพันธุ์ที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกในเขตปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพดินร่วนปนทราย
               “อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 มีลักษณะเด่น คือ แตกกอดี ใบคลุมพื้นที่เร็ว ที่สำคัญยังให้ผลผลิตสูงโดยอ้อยปลูกให้ผลผลิตมากถึง 21.7 ตัน/ไร่ และอ้อยตอให้ผลผลิต 17.4 ตัน/ไร่ ทั้งยังมีความหวานสูงโดยอ้อยปลูกมีความหวาน 14.3 ซีซีเอส อ้อยตอมีความหวาน 15.9 ซีซีเอส ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการดูแล นอกจากนั้น ยังออกดอกช้าทำให้น้ำหนักและความหวานไม่ลดลงช่วงปลายฤดูหีบ และยังมีกาบใบหลวมช่วยให้เก็บเกี่ยวง่าย ขณะเดียวกันยังมีความต้านทานโรคแส้ดำ และทนแล้งด้วย หากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจะฟื้นตัวได้เร็ว” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
              นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรได้ประเมินผลการใช้เทคโนโลยีการเกษตรด้านพันธุ์อ้อยและเทคโนโลยีการผลิตอ้อย โดยสุ่มเก็บข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดและรองลงมา จำนวน 19 จังหวัด ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 520 ราย พบว่า เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีด้านพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะพันธุ์ขอนแก่น3 มีการใช้เฉลี่ย 64% โดยมีการใช้มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 82% รองลงมา คือ ภาคตะวันออก และเกษตรกรยังมีความพึงพอใจต่อพันธุ์ขอนแก่น3 ในเรื่องการทนแล้ง มีความงอกดี การแตกกอดี ให้ผลผลิตและความหวานสูงและไม่ออกดอก ทั้งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงและสามารถไว้ตอได้ดีด้วย
               “อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 ถือเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพสูงและเกษตรกรเลือกใช้มากที่สุดในขณะนี้ เพราะนอกจากจะให้ผลผลิตสูงและให้ความหวานสูงแล้ว ยังสามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีกว่าอ้อยพันธุ์อื่น ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงพันธุ์อ้อยทนแล้งเพิ่มเติม 2-3 พันธุ์ และเตรียมประกาศเป็นพันธุ์แนะนำ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ต้องการใช้พันธุ์ใหม่ไปปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และตอบสนองความต้องการของโรงงานน้ำตาลรวมถึงอุตสาหกรรมอ้อยในอนาคต” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ