ข่าว

 รวมพลยุวเกษตรกรที่"กำแพงแสน" สานต่ออาชีพเกษตรสู่ความยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 รวมพลยุวเกษตรกรที่"กำแพงแสน" สานต่ออาชีพเกษตรสู่ความยั่งยืน

 

        ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เกษตรในทศวรรษหน้าต้องพึ่งพาเยาวชนคนรุ่นใหม่วันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการจัดตั้ง“กลุ่มยุวเกษตรกร”เพื่อพัฒนาความรู้และทักษาอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2495 โดยผู้เชี่ยวชาญองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการทดลองส่งเสริมการปลูกพืช ทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์แก่เยาวชนที่โรงเรียนพรหมานุเคราะห์ จ.ฉะเชิงเทราเป็นครั้งแรกและมีการจัดตั้ง 4-H Clup ขึ้นในประเทศไทย โดยนำรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานมาจากสหรัฐอเมริกา

           ต่อมาในปี 2518 ได้โอนภารกิจนี้อยู่ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมเปลี่ยนชื่อหม่เป็น“กลุ่มยุวเกษตรกร”ตั้งแต่บัดนั้นมาและกว่า 65 ปีที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมการรวมตัวของเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 10-25 ปีที่มีความสนใจด้านการเกษตร ที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติอย่างจริงจังให้ยุวเกษตรกรมีความสามารถและความพร้อมในการสืบทอดอาชีพการเกษตรจากรุ่นสู่รุ่นได้ในอนาคต พร้อมกับการจัดงานชุมชนยุวเกษตรกรระดับประเทศเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี

           “เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อนำแนวคิดไปพัฒนาและสร้างแรงจูงใจในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการพัฒนางานยุวเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพตลอดจนการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม”

           สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานชุมชนยุวเกษตรกรและที่ปรึกษายุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2560 ในระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐมเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการดำเนินงานมาอย่างยาวนานและสืบสานพระราชปณิธานในการพัฒนาด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลทที่9 ทั้งนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรามราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 พร้อมพระราชทานธงยุวเกษตรกรให้กับตัวแทนยุวเกษตรกรทั้ง 4 สถาบัน ประกอบด้วยม.เกษตรศาสตร์ ม.แม่โจ้ ม.ขอนแก่นและโรงเรียนยนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

          “สำหรับงานในปีนี้(2560)ได้กำหนดรูปแบบงานคือ I'm proud to be a 4 H'er โ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 750 คน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนของงานจะแบ่งออกเป็นส่วนของการจัดนิทรรศการและเผยแพร่ความรู้ของกลุ่มยุวเกษตรกรต้นแบบและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจากภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา   การประกวดแข่งขันด้านการเกษตร เช่นตอบปัญหาการเกษตรคัดแยกเมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

           อำนาจ มอญพันธุ์ อดีตยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ ปัจจุบันเป็นยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์(Young Smart Farmer)และ เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงมอญพันธุ์แห่งต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรีเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นยังยุวเกษตรกรเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วว่า หลังได้รับคัดเลือกจากรกมส่งเสริมการเกษตรไปฝึกงานที่เมื่องอิวาตะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2543เป็นเวลา 8 เดือนเต็ม ทำให้ได้เรียนรู้วิถีเกษตรของประเทศญี่ปุ่นและนำความรู้และประสบการณ์มาใช้ในการทำเกษตรกรจนถึงทุกวันนี้

            "อาชีพเกษตรที่ญี่ปุ่นไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ง่าย ๆ และเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีมาก ๆ ประเทศเขามีพื้นที่ราบจำกัด ฉะนั้นจะต้องใช้พื้นที่ทุกตารางน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนจะปลูกอะไรจะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอนรู้ว่าตลาดต้องการอะไรช่วงไหน อย่างไรและมีการทำสัญญาซื้อขายกันล่วงหน้า ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจได้ว่าผลผลิตออกจะไม่มีปัญหาเรื่องการตลาดและราคาตกต่ำ"

         เขาเผยต่อว่าหลังกลับมาจากญี่ปุ่นก็ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรหลายอย่าง อาทิเช่น ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ไม้ผล เลี้ยงไก่พื้นเมืองและอีกหลายอย่างจะทำในลักษณะเกษตรผสมผสาน บนเนื้อที่ 30 ไร่เศษปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน โดยภายในำเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อใช้เป็นที่แลกเรียนเรียนรู้และแหล่งดูงานด้าน

การเกษตรอีกด้วย 

      ขณะที่ นริญา นิมา ประธานกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนสุเหร่าบางกะสี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการกล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมงานชุมชนยุวเกษตรกรในปีนี้และจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วงานครั้งนี้ไปใช้ในการทำเกษตรกที่โรงเรียนต่อไป ซึ่งโรงเรียนจะมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนักเรียนจะร่วมกันปลูก ดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเกด็บเกี่ยวผลผลิตจากนั้นก็นำมาทำอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน โดยมีอ.ธราดล พรหมชาติ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 

          "ที่บ้านก็ทำเกษตร ปลูกผัก พืชสมุนไพร มาโรงเรียนก็ทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ก็รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ ในอนาคตก็คิดว่าอยากจะทำอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรนี่แหละ หนูมองว่าถึงไม่รวยแต่ก็ไม่อดตาย และคิดเ้ป็นอาชีพที่ไม่อยากอย่างที่คิด หากเรามีความตั้งใจและใส่ใจกับมัน"ประธานกลุ่มยุวเกษตรกรคนเดิมกล่าวย้ำ

         การจัดงานชุมชนยุวเกษตรกรและที่ปรึกษายุวเกษตรกรระดับประเทศถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่สานต่ออาชีพการเกษตรแทนคนรุ่นเก่าที่นับย่างเข้าสู่วัยเกษียณมากขึ้นเรื่อย ๆ  

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ