ข่าว

ครม.เห็นชอบดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2560

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.เห็นชอบดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2560

 

            วันที่ 27 มิ.ย. 60 เวลา 13.15 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ      นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 1,841,100,000 บาท สำหรับการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้  ตลอดจนภัยศัตรูพืช และโรคระบาด  โดยมีเป้าหมายพื้นที่รับประกันภัย ขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ สูงสุด 30 ล้านไร่ และมีวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ( ปี พ.ศ.2559 วงเงินคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่)  ขณะที่ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด มีวงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ ( ปี พ.ศ.2559 วงเงินคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่) ซึ่งตามระเบียบของทางราชการกรณีที่ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด มีวงเงินคุ้มครองน้อยกว่าภัยประเภทอื่นข้างต้น เนื่องจากพบว่าเมื่อเกิดภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดความเสียหายอาจจะเกิดประมาณครึ่งของการเพาะปลูกทั้งหมดจึงพิจารณาทดแทนให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
               สำหรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัยปี 2560  อัตราเท่ากันทุกพื้นที่การผลิต 97.37 บาทต่อไร่ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ หรือคิดเป็น 90 บาทต่อไร่ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์  (ปี พ.ศ. 2559 อัตราค่าเบี้ยประกัน 107.428 บาทต่อไร่ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ ) เกษตรกรจ่าย 36 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ รัฐบาลจะอุดหนุนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)  ส่วนกรณีที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส.นั้น ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 36 บาทต่อไร่
              ส่วนระยะเวลาการขายประกันเริ่มตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูก – 31 สิงหาคม 2560 และภาคใต้สามารถดำเนินการได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เนื่องจากฤดูการเพาะปลูกของภาคใต้ช้ากว่าภาคอื่น อีกทั้งปีนี้รัฐบาลยังมีการพิจารณาให้เกษตรกรผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกใช้บริการพร้อมเพย์  (Promptpay)  ในการรับ – โอนค่าเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยไม่ต้องเดินทางมาจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมด้วยตนเอง ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย
                  พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยมิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกับการดำเนินการของโครงการฯ ปีการผลิต 2559 และขอให้จัดส่งข้อมูลให้สมาคม ฯ และ ธ.ก.ส. เพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
                  อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการฯ และแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ในอนาคต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการระบบประกันภัยพืชผลมากยิ่งขึ้น และทยอยให้เกษตรกรเพิ่มการมีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังดำเนินการศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยให้ขยายผลครอบคลุมไปถึงพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่น ๆ  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไทยในอนาคตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถบรรเทาความเดือนร้อนภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นหากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว
                    
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ