ข่าว

ประสบการณ์ชีวิตกับคนญี่ปุ่น ตอน1    

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ศ.ระพี สาคริก  

          วันนี้ฉันมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตกับคนญี่ปุ่น ซึ่งในที่สุดฉันก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับสามัญชน เมื่อปี พ.ศ.2530  ในปีนั้นนายกรัฐมนตรีทานากะ ได้เดินทางมามอบให้ถึงกรุงเทพฯ และกราบทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเป็นประธาน ณ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย 

           เรื่องราวระหว่างฉันกับญี่ปุ่นนั้นมีมายาวนาน และต่างคนต่างก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

            ความจริงฉันเดินทางไปไหนมาไหนแทบจะทั่วโลก แต่อาจเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นมันใกล้เกินไปหรือยังไงก็ไม่ทราบ  จึงไม่เคยข้องแวะญี่ปุ่นแม้แต่ครั้งเดียว  ตัวฉันเองมีนิสัยอันเป็นธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง สิ่งนั้นก็คือ “ถ้าใครเดือดร้อนมาหา ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศ รู้จักไม่รู้จักก็แล้วแต่ ฉันจะมีน้ำใจช่วยเหลือทุกคน"

              ในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีการสร้างถนนจาก จ.กาญจนบุรี ไปสู่ อ.ทองผาภูมิ แถบนั้นทั้งแถบมันเต็มไปด้วยไม้ไผ่ แต่ก่อนนี้ฉันเคยขับรถ แลนด์โรเวอร์ไปจมโคลนอยู่ที่นั่น แม้จะใช้เกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ มันก็ไม่สำเร็จ พูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงช่วงที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนิสิตอาสาสมัครอยู่ 2 กลุ่ม ซึ่งมีพื้นฐานความคิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

              กลุ่มแรกคือนิสิตค่ายอาสาที่ออกไปสร้างโรงเรียนในชนบททุกปี เริ่มตั้งแต่ 2 ค่ายแล้วก็ขยายเป็น 3 ค่าย แถมยังมีค่ายอาสาภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนืออีก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่กลุ่มมหาวิทยาลัยชาวบ้าน นิสิตกลุ่มนี้ไม่นิยมไปสร้างสิ่งก่อสร้าง แต่ไปช่วยเหลือสังคมที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

            ฉันเป็นผู้ใหญ่ที่พยายามรักษาคุณสมบัติของความเป็นผู้ใหญ่เอาไว้ให้ชัดเจนอยู่เสมอ ไม่ว่านิสิตจะแบ่งออกไปเป็นกี่กลุ่ม ฉันก็จะไปใช้ชีวิตร่วมกินร่วมนอนและร่วมทำงานกับทุกกลุ่มอย่างไม่มีการลำเอียง

            ช่วงนั้นนิสิตมหาวิทยาลัยชาวบ้านไปค้างอยู่กลางป่าที่หมู่บ้านสามหลัง ไหนจะยุงชุม ไหนจะมาลาเรียขึ้นสมอง ในปีนั้นฉันไปนอนอยู่กับเด็กๆ โดยกางมุ้งบนพื้นซีเมนต์ ปรากฏว่าได้เห็นชาวบ้านนอนสิ้นใจเพราะโรคไข้ป่ามันกิน จะหารถออกมาส่งโรงพยาบาลก็ไม่มีทาง เพราะถนนมันไม่เอื้ออำนวยให้แก่รถวิ่ง

               สรุปแล้วสามารถพูดได้เต็มปากว่ากาญจนบุรีเป็นป่าไม้ไผ่ยาวตลอดหลายสิบกิโลเมตร

             ในปีนั้นปรากฏว่ากรมป่าไม้มีโครงการสานไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ไผ่ของประเทศญี่ปุ่น อยู่มาวันหนึ่งในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน อยู่ๆ ก็มีญี่ปุ่นคนหนึ่งมาเคาะประตูห้องทำงานแล้วก็เดินเข้าไปหาฉันที่โต๊ะ ฉันมาทราบภายหลังว่าเขาชื่อ ดร.วาตานาเบ้ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่กรมป่าไม้นำมาทำงานด้วย คุณวาตานาเบ้มาปรึกษาผมว่า เขามีบรรดานักวิชาการเพื่อนเขาหลายคนกำลังจะเดินทางมาศึกษางานในประเทศไทย เขาไปหาคนหลายคน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะช่วยเหลือ

              ในที่สุดฉันก็เชิญแกนั่งคุยด้วยแล้วตอบรับที่จะให้ความช่วยเหลือ ความจริงฉันลงท้ายด้วยคำพูดที่ว่า “ฉันไปไหนก็ไปมาแล้วแทบจะทั่วโลก แต่ญี่ปุ่นฉันไม่เคยไป ความจริงฉันพูดไปอย่างนั้นแหละ ในฐานะที่การพูดเป็นลักษณะของโอภาปราศรัยแบบคุยกันธรรมดาโดยไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น

           ดร.วาตานาเบ้ ได้รับความช่วยเหลือจากฉัน หลังจากเธอกลับไปแล้วประมาณ 1 เดือนเห็นจะได้ 

                                                         ***************************************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ