ข่าว

สิงห์อมควันกลับใจ เลิกบุหรี่ง่าย ๆ ด้วยลูกอมสมุนไพร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิงห์อมควันกลับใจ เลิกบุหรี่ง่าย ๆ ด้วยลูกอมสมุนไพร

 

             วันที่ 29 พ.ค.60 ณ ห้องโถงชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน..ฉันวิทย์” เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหัวข้อ “สิงห์อมควันกลับใจ เลิกบุหรี่ง่าย ๆ ด้วยลูกอม”เพื่อให้ตระหนักถึงความสูญเสียทางด้านชีวิตของประชากรที่เกิดจากการสูบบุหรี่และรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่รศ.ดร. ผ่องศรี ศรีมรกต เครือข่ายพยาบาลต้านบุหรี่และสารเสพติดแห่งประเทศไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสวนาหัวข้อ “ชีวิตปลอดควัน ลด ละ เลิก สูบบุหรี่” นายสายันต์ ตันพานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เสวนาหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อเลิกสูบบุหรี่”และผู้ดำเนินการเสวนา นายสืบสกุล พันธ์ดี ผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี

             รศ.ดร. ผ่องศรี ศรีมรกต เปิดเผยว่า การบริโภคยาสูบหรือการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรงองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบ หรือการเลิกสูบบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มี “วันงดสูบบุหรี่โลก” (World No Tobacco Day) ขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาโดยในปี พ.ศ.2560 นี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้คำขวัญว่าบุหรี่ : ภัยคุกคามต่อการพัฒนา (Tobacco - a threat to development) แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตก่อนเวลาจากการสูบบุหรี่ 6 ล้านคน และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 8 ล้านคน ในปี ค.ศ.2030 หากไม่มีการควบคุมการบริโภคยาสูบหรือการสูบบุหรี่อย่างจริงจังจากข้อมูลการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ที่มีปีละ 5 หมื่นคนเศษ ทำให้ประมาณการได้ว่ามีคนไทยอย่างน้อยหนึ่งล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่และป่วยหรือพิการด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมปอดพอง และโรคเรื้อรังอื่นๆ
                ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสูญเสียทางด้านชีวิตของประชากรที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงกำหนดมาตรการต่าง ๆ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพยายามให้เกิดการเลิกสูบบุหรี่ ดังเช่นที่กระทรวงได้ประกาศบังคับใช้มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้มีการพิมพ์คำเตือนและโทษของการสูบบุหรี่ที่ข้างซอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ทั้งยังมีกฎหมายที่ใช้คุ้มครองสุขภาพประชาชนอีกด้วย
                ในส่วนของเครือข่ายพยาบาลต้านบุหรี่และสารเสพติดแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาแล้วกว่า 10 ปี อาทิ การบำบัดเพื่อช่วยให้เลิกบุหรี่ 2550 ประสิทธิภาพการช่วยเลิกบุหรี่โดยพยาบาล: จากงานประจำสู่งานวิจัย 2553 และสานพลังพัฒนาตำบลปลอดบุหรี่ 2558 เป็นต้น นอกจากนี้ได้รวบรวมความรู้ไว้ในหนังสือการบำบัดทางเลือกเพื่อช่วยเลิกบุหรี่วิถีไทยด้วยผลไม้และสมุนไพร เช่น กล้วยหอม ที่มีสารสำคัญช่วยให้คลายเครียด มีวิตามินบี 6 บี 12โปตัสเซียมและแมกนีเซียม ที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วจากการขาดนิโคติน ลดการหวนกลับไปสูบบุหรี่ หญ้าดอกขาว มีการทดลองวิจัยใช้ในกลุ่มผู้ติดบุหรี่ หญ้าดอกขาวมีสารประกอบโปตัสเซียม ไนเตรท ทำให้ประสาทรับรสที่ลิ้นชาจึงไม่รู้สึกอยากบุหรี่กานพลู/ลูกจันทน์ มีพยาบาลโรงพยาบาลพังงา ได้นำดอกกานพลูแห้งให้ผู้อดบุหรี่อมแก้อยากบุหรี่และระงับกลิ่นปาก ซึ่งช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ส่วนลูกจันทน์จะช่วยบรรเทาอาการอยากบุหรี่ได้ชั่วคราวมะขามป้อม เป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย มีวิตามินซีสูงมาก มีสารแทนนิน สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง โดยแนะนำใช้มะขามป้อมสดเคี้ยวกินหรืออมก็ได้มะนาว ช่วยบรรเทาอาการอยากบุหรี่ได้เพราะมีรสเปรี้ยวและอุดมไปด้วยวิตามินซี ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ด้วยการนำมะนาวมาฝานเป็นชิ้นบาง กินหรืออมทั้งเปลือก เป็นต้น
              ด้าน นายสายันต์ ตันพานิช กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้บูรณาการ“โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อลดการสูบบุหรี่” มุ่งเน้นการคัดเลือกสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ต่อการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นชุดโครงการที่ครอบคลุมการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรตั้งแต่การคัดเลือกสมุนไพร การทดสอบประสิทธิผล จนถึงได้ผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้บำบัดและรักษาผู้ติดยาเสพติดจำพวกบุหรี่ให้หายจากการติดบุหรี่ได้อันจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ติดบุหรี่โดยใช้สมุนไพรบำบัดหรือรักษาทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ลดสูบบุหรี่ลดการเกิดโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่และเกษตรกรมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชสมุนไพร
              จากการดำเนินโครงการนี้ วว. ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมอดบุหรี่ “รสกะเพรา”ซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นสารสกัดจากกะเพรามีประสิทธิภาพในการช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ในระยะเวลา 30 วันในจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15-55 ปี ทั้งเพศหญิงและชายทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดกะเพราด้วยเทคนิค MTT assayและเมื่อเปรียบเทียบผลระหว่างการตอบสนองของเซลล์ปกติ (L929) และเซลล์มะเร็ง (CaCo2) พบว่าสารสกัดกะเพรามีแนวโน้มเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติ แสดงว่าสารสกัดออกฤทธิ์แบบเจาะจง คือ มีคุณสมบัติเป็น cell-specific effect

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ