ข่าว

มท.แจ้งทุกจังหวัดปริมณฑล พร้อมรับ‘น้ำระบาย’จากกทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มท.แจ้งทุกจังหวัดปริมณฑล พร้อมรับ‘น้ำระบาย’จากกทม.

              วันที่ 28 พ.ค.60 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) ในจังหวัดปริมณฑลที่มีพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่กทม.กับจังหวัดปริมณฑล 

                 โดยระบุว่าขอให้จังหวัดปริมณฑล หรือพื้นที่รองรับการระบายน้ำจาก กทม.ดำเนินการจัดตั้งกองอํานวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (กอ.ปภ.)จังหวัดเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม ทำหน้าที่ประสานงาน กับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอให้ผู้ว่าฯ แต่งตั้งผู้ติดตามผลการปฏิบัติงานตามขั้นตอน เพื่อรายงานผลการปฏิบัติ ปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงานเพื่อส่วนกลางจะได้เข้าไปช่วยอำนวยการแก้ไขปัญหา

              นอกจากนี้ มอบหมายให้ ปภ.เป็นผู้ประสานงานหลัก ระหว่างมหาดไทยและจังหวัด กับ กทม.เพื่อแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ และขอให้จังหวัดกำชับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งผู้บริหารอปท.ในพื้นที่ให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมทั้งให้ความสำคัญเร่งด่วนในการกำหนดช่องทางระบายน้ำหรือพื้นที่รองรับการระบายน้ำ การจราจร รวมทั้งการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการบริหารระบบระบายน้ำของกทม. 

             ขณะเดียวกันนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสาโรจน์ สามารถ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการปรับปรุงบ่อสูบน้ำท่าพระจันทร์ บ่อสูบน้ำท่าช้าง และบ่อพักข้างกรมรักษาดินแดง โดยมีคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตพระนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่

               ทั้งนี้ จากฝนตกหนักในพื้นที่กทม. เมื่อวันที่ 25-27 พ.ค.ผ่านมา บริเวณพื้นที่โดยรอบท้องสนามหลวงและรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเร่งระบาย กรุงเทพมหานครสามารถควบคุมและลดระดับน้ำในพื้นที่ได้จึงไม่เกิดปัญหาน้ำเร่งระบาย ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีสถานีสูบน้ำที่สำคัญอยู่ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำพระปิ่นเกล้า บ่อสูบน้ำท่าพระจันทร์ และบ่อสูบน้ำท่าช้าง ซึ่งบ่อสูบทั้ง 2 แห่ง สามารถสูบน้ำได้แห่งละประมาณ 2 ลบ.ม./วินาที และยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อส่งน้ำให้ไปถึงบ่อสูบน้ำกับสถานีสูบน้ำได้เร็วขึ้น โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไปแล้ว 12 เครื่อง เพื่อดึงน้ำไปลงสถานีสูบน้ำพระปิ่นเกล้า และบ่อสูบน้ำทั้ง 2 แห่ง ตลอดจนบ่อสูบน้ำซอยท่าข้าม บริเวณโรงเรียนราชินี มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเร่งระบายในพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี

               สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะแบ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็น 3 อย่าง สิ่งแรกที่กำลังดำเนินการอยู่คือการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำฝน ส่วนอนาคตจะมีปัญหาเรื่องของน้ำเหนือและน้ำขึ้นน้ำลง กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันสามารถก่อสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้วทั้งหมด 76 กม.

               อย่างไรก็ตามบริเวณตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีบ้านเรือนที่รุกล้ำอยู่ประมาณ 30 จุด ซึ่งกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เร่งเจรจากับบ้านที่รุกล้ำว่า มีความจำเป็นที่ในการใช้พื้นที่ในการก่อ สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านมาสามารถเจรจาและสร้างเขื่อนเพิ่มได้แล้วอีก 2 จุด ตรงบริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 3 เขตราษฎร์บูรณะ และบริเวณช่วงวัดเศวตฉัตรถึงอู่เรือหะริน เขตคลองสาน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา ส่วนบริเวณที่ยังไม่สามารถสร้างเขื่อนได้จะเกิดปัญหาในกรณีน้ำขึ้นสูงหรือกรณีน้ำเหนือไหลมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถรองรับน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500 ลบ.ม./วินาที  

                ดังนั้นจุดที่ยังไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนหรือจุดที่เป็นฟันหลอน้ำอาจไหลเข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นสำนักการระบายน้ำได้เรียงกระสอบทรายไว้เพื่อเป็นเขื่อนชั่วคราว แต่อาจไม่มีความมั่นคงแข็งแรงเทียบเท่าการก่อสร้างเขื่อนถาวร จากการสำรวจพบว่าบริเวณตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยามีบ้านเรือนที่รุกล้ำอยู่ 30 จุด จะมีบ้านที่ได้รับผลกระทบประมาณ 670 หลังคาเรือน ถึงแม้จะเรียงกระสอบทราย ในบริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาในพื้นที่ด้านในแล้ว บ้าน เรือนที่รุกล้ำก็ยังคงได้รับผลกระทบอยู่เพราะอยู่นอกแนวกระสอบทรายที่เรียงไว้

                ด้านการเตรียมพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเร่งระบายนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ สถานีสูบน้ำ ระบบท่อระบายน้ำ ในขณะเดียวกันได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมป้องกันและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการเร่งระบายน้ำนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตกลงมา แต่ในกรณีที่ฝนตกลงมาเกินกว่า 60 มม. ต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำพอสมควร ซึ่งจะพยายามเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ