ข่าว

“เกษตรกรศรีสะเกษ” ผลิตไก่เนื้อโคราชได้เองเป็นที่แรกของไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เกษตรกรศรีสะเกษ” ผลิตไก่เนื้อโคราชได้เองเป็นที่แรกของไทย

          สกว.จับมือ มทส. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไก่เนื้อโคราชแก่เกษตรกร จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้ผลิตลูกไก่เนื้อโคราชรายแรก หวังขยายผลทางเลือกอาชีพกับเกษตรกร ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยังยืน
         เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยศูนย์วิจัย และพัฒนาพันธุ์ "ไก่เนื้อโคราช" พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการทางด้านสัตว์ปีก ลงพื้นที่เยี่ยมชม และให้ความเห็นแก่ชมรมผู้เลี้ยงไก่ห้วยทับทัน ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ “สายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช” อ.ห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ โดยความร่วมมือในการสนับสนุนระหว่าง สกว. , มทส. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมี นายทูลทองใจ ดวนใหญ่ ผู้จัดการ ธกส.สาขาห้วยทับทัน และสมาชิกชมรมผู้เลี้ยงไก่ห้วยทับทัน ให้การต้อนรับ
              รศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี  เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งงานวิจัยได้ค้นพบการใช้ทฤษฎีด้านการปรับปรุงพันธุ์ไก่เนื้อโคราช และเป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรรายย่อยของประเทศสามารถเข้าถึงง่าย สำหรับเทคโนโลยีสร้างลูกไก่สายพันธุ์ผสมระหว่างพ่อไก่พันธุ์พื้นเมืองเหลืองหางขาว และแม่พันธุ์ไก่สายพันธุ์ มทส. ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ ที่สำคัญเป็นการขยายผลทางด้านอาชีพแก่เกษตรกร ในยุคของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และยังสอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย
               “ไก่เนื้อโคราชมีคุณสมบัติทนโรค ทนแล้ง ใช้เวลาเลี้ยงเพียงแค่ 2 เดือน กับไก่น้ำหนัก 1.2 กก. ก็สามารถจับขายได้ ประกอบกับการเลี้ยงง่ายๆ แบบพื้นบ้าน นอกจากจะโตไว คุณสมบัติด้านรสสัมผัสของเนื้ออยู่ระหว่างกลางของไก่เนื้อกับไก่พื้นเมืองไม่นุ่มเละเหมือนไก่เนื้อ ไม่เหนียวแข็งเหมือนไก่พื้นเมือง โดยเนื้อไก่โคราชจะมีความเหนียวแต่นุ่ม เคี้ยวไปแล้วเหมือนมีสปริง เพราะมีคอลลาเจนสูงกว่าไก่เนื้อ 2 เท่า แต่ไม่มากไป ที่สำคัญมีปริมาณโปรตีนสูง แต่ไขมันต่ำ และยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภครักสุขภาพ” รศ.ดร.อมรรัตน์ อธิบาย พร้อมกับกล่าวว่า
               เพื่อเป็นการขยายผลการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย มหาวิทยาลัยจึงขยายฐานความร่วมโดยการสร้างภาคีความร่วมมือขึ้นกับ ธ.ก.ส. หอการค้าจังหวัด กรมปศุสัตว์ กระทรวงมหาดไทย ผ่านระดับจังหวัด อำเภอ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้การเลี้ยงไก่เนื้อโคราชเป็นอาชีพที่เข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ผลของความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร รวมถึงอำเภอเมือง อำเภอโนนสูง อำเภอปักธงชัย และอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีจำนวนเกษตรกรมากกว่า 100 ราย และปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งทางด้านพื้นที่และบุคลากร เพื่อขยายฐานการผลิตลูกไก่ส่งเกษตรกรกว่า 44,000 ตัวต่อเดือน ในราคาตัวละ 20 บาท 
                 จึงนับว่าไก่เนื้อโคราชเป็นผลงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนในการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ดังนั้นการพัฒนาโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้ไก่มีความโดดเด่นที่แตกต่าง และสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่เข้มแข็งในการประกอบอาชีพของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความเป็นพลวัต และการสร้างภาคีความร่วมมือในการทำงานเพื่อพัฒนาอาชีพ และนำไปสู่การขยายผลสู่เกษตรกรในวงกว้างที่เห็นผลได้ 
                  ด้านนายทูลทองใจ ดวนใหญ่    ผู้จัดการ ธกส. สาขาห้วยทับทันกล่าวทิศทางการขยายกลุ่มชมรมผู้เลี้ยงไก่ห้วยทับทันว่า เป็นในทิศทางที่ดี ภายหลังที่เกษตรกร ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ไก่ การขุนไก่เนื้อโคราช จากมทส. จังหวัดศรีสะเกษให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงเรือน และอุปกรณ์การเลี้ยง รวมถึงตู้ฟักไข่ และพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อโคราช ให้แก่สมาชิก ทั้ง 5 กลุ่ม โดยในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา หรือนับจากเดือนกันยายน 59 สมาชิกชมรมผู้เลี้ยงไก่ห้วยทับทัน สามารถผลิตลูกไก่ส่งให้เครือข่ายราว 30,000 ตัวต่อเดือน ซึ่งในแต่ละโรงเรือนจะมีพ่อแม่พันธุ์อยู่ประมาณ 400 ตัว ถือว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการของสมาชิก และผู้ที่สนใจ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงอย่างจ.อุบลราชธานีและจ.สุรินทร์ 
อย่างไรก็ตาม นอกจากการผลิตลูกไก่เนื้อโคราชแล้ว สมาชิกยังได้ขุนไก่จำหน่าย ตามแผงลอยต่างๆในจังหวัดที่มีอยู่ประมาณ 20 แผงตามปั้ม ปตท.รวมถึงร้านค้าในตลาดสด และร้านอาหาร เช่น ร้านนายเฮงดีไก่ย่าง ต้นตำรับไก่ย่างไม้มะดัน และไก่ใต้น้ำ ที่มีการสืบทอดสูตรเด็จกว่า 80 ปี สร้างรายได้ให้กับสมาชิกขั้นต่ำวันละ 500 บาท 
                   ผู้จัดการ ธกส. สาขาห้วยทับทัน อธิบายอีกว่า การเลี้ยงไก่ 1 โรงเรือน ประมาณ 500 ตัวต่อรุ่นโดยให้กินอาหารเต็มที่จะมีกำไรประมาณ 6,000 บาทต่อการเลี้ยง 2 เดือน แต่ถ้าที่มีพื้นที่ปล่อยและมีอาหารธรรมชาติ จะมีกำไรประมาณ 14,000 บาท ต่อการเลี้ยงประมาณ 3 เดือน คิดเป็นกำไรจากไก่มีชีวิตสามารถจำหน่ายไก่มีชีวิติกิโลกรัมละ 75-80 บาท ซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงประมาณกิโลกรัมประมาณ 60-65 บาท ขณะเดียวกันสมาชิกสามารถมีกำไรที่มากขึ้นหากมีการแปรรูปไก่เป็นเมนูประจำถิ่น เช่น ไก่ย่าง และไก่ใต้น้ำ 

                   รศ.ดร.กนก ผลารักษ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ความเห็นว่า ส่วนในอนาคตนั้นจะพัฒนาการเลี้ยงไก่เนื้อโคราชไปอีกขั้น คือ การตลาดและการจัดการ โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการทำการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตของชมรม

                ในส่วนนี้ ทางชมรมผู้เลี้ยงไก่ ควรจะมีการจัดสรร หรือ แบ่งการผลิตลดความซ้ำซอน ยกตัวอย่าง กลุ่มนี้ เน้นการผลิตลูกไก่ และสร้างพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อส่งต่อแก่สมาชิกในชมรม และผู้ที่สนใจ ขณะที่อีกกลุ่มก็เน้นไปที่การขุนไก่เนื้อ และแปรรูป ส่งตลาดตามที่ได้วางระบบไว้ 

 
 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ