ข่าว

ตะลุยฟาร์ม ‘แพะ"แปลงใหญ่จ.ราชุบรี ดูวิธีการเลี้ยงระบบสหกรณ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตะลุยฟาร์ม ‘แพะ-แกะ’ แปลงใหญ่ ดูกลไกการเลี้ยงด้วยระบบสหกรณ์

             การดำเนินงานแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์บ้านหนองมะค่า หมู่ 9 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเกษตรกรที่ยึดอาชีพเลี้ยงแพะ-แกะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็น “สหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะ-แกะ แปลงใหญ่ราชบุรี จำกัด” ขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ภายใต้แนวทางการบูรณาการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ

               “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ตามคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ นำโดยอธิบดี “ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและติดตามความก้าวหน้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันยึดอาชีพเลี้ยงแพะ-แกะแล้วจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินงาน  จากเดิมเกษตรกรจะเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง เมื่อมีระบบแปลงใหญ่จึงส่งเสริมให้เปลี่ยนมาเป็นระบบโรงเรือนและอาศัยขบวนการสหกรณ์เข้ามาช่วยในเรื่องการตลาด มีการรวมกันขาย ซึ่งทำให้สมาชิกขายแพะได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิม โดยจัดให้มีการมีทำเอ็มโอยู ในการขายแพะ-แกะกับผู้ประกอบการอย่างครบวงจร 

                ในส่วนภารกิจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้ามาช่วยดำเนินการในการรวมกลุ่มของสหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะแกะแปลงใหญ่ราชบุรี จำกัด นั้น สหกรณ์จังหวัดราชบุรีจะเข้ามาดูในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มให้มีการวางระเบียบในการอยู่ร่วมกัน การทำเรื่องระบบระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องของการสร้างกลไกในการรวมซื้อรวมขาย 

               “กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าช่วยดูเรื่องของการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจให้สหกรณ์ ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่มาประจำในพื้นที่เพื่อร่วมดำเนินงานและเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มผู้เลี้ยงแพะตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดี มีการประชุมร่วมกันเพื่อร่วมวางระบบการเลี้ยง นับว่ามีความเข้มแข็งมาก ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาให้คำแนะนำและช่วยเหลือ เช่น กรมปศุสัตว์ จะช่วยดูเรื่องของอาหารสัตว์ที่ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อให้แพะมีความแข็งแรงเป็นไปตามความต้องการของตลาด” ดร.วิณะโรจน์ เผยระหว่างเยี่ยมชมฟาร์ม

               นอกจากนี้ยังมีการประสานงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและจัดหาตลาด ส่งแพะออกไปขายต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ปัจจุบันขายได้ราคามากกว่าเดิม จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 95 บาท ตอนนี้ตลาดเวียดนามรับซื้อ 110 บาทต่อกิโลกรัม และจากนี้ไปจะมีการติดต่อตลาดที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาข้อตกลงกับผู้รับซื้อ คาดว่าจะเป็นตลาดรองรับผลผลิตแพะของเกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง 

              ส่วนการจำหน่ายแพะนั้น สหกรณ์ได้ทำเอ็มโอยูกับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ-แกะ รวมถึงกลุ่มผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 15 กลุ่ม เช่น กลุ่มสวนผึ้ง กลุ่มจอมบึง กลุ่มบ้านคา และกลุ่มป่าหวาย ซึ่งมีการกำหนดแนวทางร่วมกันในการทำการตลาด เช่น แพะตัวเมียที่มีลักษณะดีเหมาะในการทำเป็นแม่พันธุ์ก็มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ขาย เพื่อป้องกันการขาดแคลนแพะพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต 

               สำหรับแพะ-แกะ ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญและมีความต้องการสูงในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอาหารที่สามารถบริโภคได้ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ประกอบกับปริมาณการเลี้ยงในภาคต่างๆ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค โดยในประเทศมี 2 ตลาดหลัก คือ ตลาดสายพันธุ์กับตลาดแพะเนื้อ โดยเฉพาะแพะเนื้อจะขายได้ตั้งแต่อายุ 3-6 เดือน เฉลี่ยน้ำหนักอยู่ที่ 25-30 กิโลกรัม ราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 90-100 บาท ส่วนตลาดสายพันธุ์จะซื้อขายกัน ตัวละ 2,000-4,000 บาท ขึ้นกับระดับสายเลือด 

             “สำหรับอนาคตของแพะ-แกะภายใต้การบริหารจัดการตามระบบแปลงใหญ่สหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะ-แกะ ค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามีอนาคตดี ด้วยได้รับความเชื่อมั่นจากตลาดและจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้เป็นอย่างดีแก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว 

             ขณะที่ ยศกร จุมพล ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะ-แกะแปลงใหญ่ ราชบุรี จำกัด ยอมรับว่าการเลี้ยงแพะในระบบแปลงใหญ่ได้เริ่มกันที่การเลี้ยงให้อยู่เฉพาะในคอก ซึ่งเดิมจะเลี้ยงกันแบบปล่อยทุ่ง ขณะเดียวกันก็มีการใช้พืชอาหารสัตว์เข้ามาให้แพะกินภายในพื้นที่เลี้ยง ทำให้ต้นทุนต่อตัวต่อกิโลกรัมลดลงเหลือที่ 63 บาท ขณะเดียวกันก็มีการจัดการด้านการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี ทำให้แพะมีสุขภาพดีขึ้น ลดอัตราการตายหลังคลอดเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์

             “เมื่อก่อนยังไม่เข้าระบบแปลงใหญ่ขายให้พ่อค้าทั่วไปได้กิโลกรัมละ 90-95 บาท หลังจากเมื่อรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์และระบบแปลงใหญ่แล้ว ก็สามารถขายได้กิโลกรัมละ 105-110 บาท ก็ทำให้ได้ราคาดี ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น การรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ก็ทำให้สามารถต่อรองราคา ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  เพราะมีการรวมซื้อปัจจัยการผลิตทำให้ได้ราคาที่ต่ำ และการรวมกันขายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อ ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าการต่างคนต่างเลี้ยงต่างคนต่างขาย นี่คือข้อดีที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนของการเลี้ยงแพะแบบแปลงใหญ่” ยศกร จุมพล กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ

              อาชีพการเลี้ยงแพะ-แกะของสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะ-แกะ แปลงใหญ่ราชบุรี จำกัด ภายใต้โครงการเกษตรแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี นับเป็นอีกก้าวที่ช่วยในการลดต้นทุนการผลิต การหาตลาดรองรับและมีอำนาจการต่อรองด้านราคาได้เป็นอย่างดี

                                               ..............................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ