ข่าว

อ.ส.ค.ยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบทั้งระบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ.ส.ค.ยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบทั้งระบบ

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน และเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 2560-2569 ให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ อ.ส.ค. ได้มีแผนบูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์เร่งยกระดับการผลิตน้ำนมดิบ และอุตสาหกรรมโคนมไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยภายในปีนี้ได้ตั้งเป้าส่งเสริมและผลักดันฟาร์มโคนมให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP) ครบทั้ง 16,770 ฟาร์มทั่วประเทศ  

ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี ทั้งจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือโซมาติกเซลล์ไม่เกิน 400,000 เซลล์/มิลลิลิตร ปริมาณของแข็งไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่า 8.75% ไขมันไม่น้อยกว่า 3.75% และคุณภาพน้ำนมดิบระดับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมีจำนวนจุลินทรีย์ไม่เกิน 300,000 CFU/มิลลิลิตร เป็นต้น

ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวอีกว่า จุดอ่อนของการเลี้ยงโคนมของไทยอยู่ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่เป็นฟาร์มรายย่อย มีต้นทุนการผลิตสูง และฟาร์มส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกสร้างแปลงหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์ ทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนอาหารหยาบคุณภาพดีไม่เพียงพอต่อเนื่องตลอดปีด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพน้ำนมดิบ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการจัดการอาหารหยาบสำหรับโคนม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์โคนม/ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบปลูกพืชอาหารสัตว์คุณภาพดีในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ อาทิ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 และข้าวโพด พร้อมผลิตอาหารทีเอ็มอาร์ (TMR) ป้อนให้กับเกษตรกรสมาชิก

“อาหารหยาบคุณภาพดีถือเป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงโคนม หากสหกรณ์สามารถบริหารจัดการแปลงหญ้าในพื้นที่แปลงใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่า จะตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรกรได้ เป็นช่องทางให้สมาชิกมีอาหารสัตว์คุณภาพดีใช้เลี้ยงโคนมได้เพียงพอและสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล หรือทำให้องค์ประกอบน้ำนมมีคุณภาพสูงขึ้นโดยธรรมชาติ ขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ และทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น” ผอ. อ.ส.ค. กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ