ข่าว

กว่าจะถึงวันนี้“บัวไข เติมศิลป์”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2560

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กว่าจะถึงวันนี้“บัวไข เติมศิลป์” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมปี 2560

        ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะการปเป็นได้ น่าจะใช้ได้ดีกับวิถีชีวิตของ“บัวไข เติมศิลป์”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปี 2560  ที่เพิ่งได้รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

กว่าจะถึงวันนี้“บัวไข เติมศิลป์”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2560

         บัวไขเกิดในครอบครัวที่มีพื้นเพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า วัยเด็กได้ช่วยแม่เก็บใบหม่อนเลี้ยงไหมมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ก่อนออกมาทำอาชีพเลี้ยงไหมอย่างจริงจังหลังเรียนจบชั้นป.4 กระทั่งอายุ 15 ปี จึงสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเลี้ยงไหมวัยอ่อนตำบลห้วยบง ตามโครงการส่งเสริมอาชีพของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.ในสมัยนั้น) ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิในปี 2522 ซึ่งได้รับการสนับสนุนโรงเลี้ยงไหมวัยอ่อน

     จากนั้นในปีถัดมาเกิดสภาวะแห้งแล้งไม่สามารถทำนาได้ ที่นาเป็นที่ดอนไม่มีแหล่งน้ำ ประกอบกับเป็นบุตรคนโตต้องดูแลน้อง ๆ จำเป็นต้องหางานอื่นทำ จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ สมัครงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กและแม่บ้าน ระหว่างที่ทำงานในกรุงเทพฯ อยากกลับบ้านมาประกอบอาชีพเลี้ยงไหม แต่ในสมัยนั้นถ้าเลี้ยงไหมอย่างเดียว อาจจะเลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ เนื่องจากราคาเส้นไหมยังไม่สูง ระหว่างนั้นได้ดูข่าวพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ทุรกันดารได้เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอีกครั้ง ประกอบกับน้องๆได้ออกเรือนสร้างครอบครัวสามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้แล้ว จึงได้กลับภูมิลำเนาจังหวัดชัยภูมิและได้เริ่มต้นเลี้ยงไหมอย่างจริงจังบัดนั้นเป็นต้นมา

กว่าจะถึงวันนี้“บัวไข เติมศิลป์”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2560

        “ก็คิดว่าไม่มีอาชีพอะไรที่ได้ดีเท่ากับอาชีพที่บรรพบุรุษให้มา ครอบครัวเราก็ยึดอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหาเลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่อดีต ก็เลยตัดสินใจมาสานต่ออาชีพของครอบครัวแล้วอีกอย่างตอนนั้นดูข่าวพระราชินีในรัชกาลที่9ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อเป็นอาชีพ สร้างรายได้ก็ตั้งใจสนองแนวพระราชดำริพระองค์ท่านด้วย”บัวไขเผยความตั้งใจในการทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 

         กระทั่งปีพ.ศ. 2553 กรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชัยภูมิ จัดโครงการฝึกอบรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบเน้นหนักหลักสูตร 10 วัน จำนวนเกษตรกร 10 ราย โดยจัดอบรม ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชัยภูมิ เธอได้เข้าร่วมโครงการ ในนามกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยบง –หนองสะแบง โดยสมาชิกเลือกให้เธอเป็นผู้นำ เหตุเพราะเป็นผู้ที่มีบุคลิกร่าเริง กล้าพูด กล้าแสดงออก มีมนุษย์สัมพันธ์กับคนทั่วไป หลังจากฝึกอบรมแล้ว ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เช่น กระด้งไม้ไผ่ จ่อไม้ไผ่ ไข่ไหม ต้นหม่อน และอื่นๆ โดยสมาชิกในกลุ่มได้มีการเลี้ยงไหม 6 รุ่นต่อปี รุ่นละ 1 แผ่น พันธุ์ไหมที่เลี้ยง คือ พันธุ์ดอกบัว 

กว่าจะถึงวันนี้“บัวไข เติมศิลป์”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2560

        ต่อมาได้รับการสนับสนุนพื้นที่ปลูกหม่อน จำนวน 80 ไร่จากอบต.ห้วยบง จึงได้จัดตั้งเป็นกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตำบลห้วยบง โดยมีเธอเป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 700 คน เมื่อรวมกลุ่มเป็นกลุ่มระดับตำบล มีปัญหาทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การผลิต การตลาด เธอได้เสียสละกำลังกาย กำลังสติปัญญา ฝ่าฟันปัญหาต่างๆ และได้ประชุมแบ่งแปลงหม่อนให้แต่ละคนรับผิดชอบในแปลงรวม 80 ไร่ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยการติดมอเตอร์กับเครื่องสาวไหม เป็นเครื่องสาวไหมมอเตอร์แบบ 2 หัวสาว และมีความพยายามในการจัดการผลผลิตให้ได้ผลผลิตเส้นไหมคุณภาพ การแก้ปัญหาด้านการตลาด โดยการติดต่อขายเส้นไหมเองในกลุ่มต่างจังหวัดในเครือข่าย เช่น นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ เป็นต้น

        สำหรับครอบครัวของเธอแต่เดิมจัดได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่หลังจากประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอยางจริงจัง ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความอยู่ดีกินดี จนสามารถซื้อที่นาเพิ่มจำนวน 4 ไร่และซื้อวัวอีก 4 ตัว สามารถปลดหนี้และมีเงินออม  

กว่าจะถึงวันนี้“บัวไข เติมศิลป์”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2560

       จากความสำเร็จของผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 38 ปี ทำให้สามารถขยายพื้นที่ปลูกหม่อน โดยมีการปรับปรุงพื้นที่นาจำนวน 5 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ปลูกหม่อน ผลสด จำนวน 1 ไร่ ปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 จำนวน 2 ไร่ และปลูกหม่อนพันธุ์สกลนคร จำนวน 2 ไร่ ตามโครงการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเป็นแปลงหม่อน (AGRI MAP) ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกหม่อนรวม 8 ไร่ โดยปลูกหม่อนพันธุ์เชียงใหม่ จำนวน 1 ไร่ พันธุ์บุรีรัมย์ 60 จำนวน 3 ไร่ และพันธุ์สกลนคร จำนวน 4 ไร่

       จากนั้นได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิม พระเกียรติฯ ชัยภูมิ จนสามารถผลิตเส้นไหมคุณภาพตามมาตรฐาน มกษ.8000-2555 ซึ่งผลผลิต เส้นไหมที่ได้จะส่งให้กลุ่มทอผ้าคญาบาติกเป็นประจำทุกเดือน ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายเส้นไหม ดักแด้ และผ้าไหม ปีละไม่ต่ำกว่า 235,820 บาท ไม่เพียงเท่านั้นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของเธอยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 การประกวดผ้าไหม (ประเภทผ้าไหมมัดหมี่)ในงาน “ท่องเที่ยวเมืองวัฒนธรรม มหกรรมผ้าไหมชัยภูมิ เทอดไท้องค์ราชินี” ปี 2558 อีกด้วย

กว่าจะถึงวันนี้“บัวไข เติมศิลป์”เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2560

        ด้วยความที่เธอเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีฝีมือด้านการสาวไหม และต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหม และได้รับรางวัลศูนย์เรียนรู้ดีเด่นด้านหม่อนไหมจังหวัดชัยภูมิอีกด้วย ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจมาศึกษาดูงานอยู่เป็นประจำและยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการสาวไหมให้กับกลุ่มต่างๆทั้งในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย

         สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือผู้สนใจเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลัี้ยงไหมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไหม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่บัวไข เติมศิลป์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมปี 2560และประธานกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยบง –หนองสะแบงโทร.08-78800906ต้องการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหม เลขที่ 151 หมู่ที่ 2 ตำบล ห้วยบง อำเภอ เมือง จังหวัด ชัยภูมิ รหัสไปรษณีย์ 36000 ได้ทุกวันไม่มีวันหยุด                       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ