ข่าว

พ่นสาร“บิวเวอเรีย”ใช้เพลี้ยะเป็นพาหะ กำจัดแมลง"ศัตรูข้าว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พ่นสาร“บิวเวอเรีย”ใช้เพลี้ยะเป็นพาหะ เทคนิคกำจัดแมลง"ศัตรูข้าว"ยั่งยืน

               แม้เกษตรกรจะเริ่มหันมาใช้“เชื้อราบิวเวอเรีย”แทนการใช้สารเคมีจำพวกยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวมากขึ้น เนื่องจากมีความปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ส่วนใหญ่ยังนิยมใช้วิธีการฉีดพ่นเหวี่ยงแหไปทั่ว ทำให้ไม่สามารถทำลายศัตรูร้ายในนาข้าวให้สิ้นซากได้ แถมยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักวิชาการอารักขาพืชกลุ่มหนึ่ง สังกัดสำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี นำโดย“อรรถพร เฉยพันธ์”คิดหาวิธีการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวที่กำลังระบาดอย่างหนักในพื้นที่จ.อุทัยธานีให้หมดสิ้นไปจากท้องทุ่งนา โดยวิธีการล่อเพลี้ยะกระโดดออกมาเล่นไฟในเวลากลางคืนจากนั้นทำการฉีดสารเชื้อราบิวเวอเรียในกลุ่มเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่มาเล่นแสงไฟ ก่อนที่ปิดไฟปล่อยให้มันบินกลับสู่แปลงนาแทนการทำลายทิ้งเพื่อช่วยเป็นพาหะในการแพร่พันธุ์เชื้อราบิวเวอเรียให้กับแมลงศัตรูข้าวตัวอื่น ๆ หรือศัตรูข้าวชนิดอื่น ๆ ต่อไป

          “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้จะพาไปดูวิธีกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและศัตรูข้าวชนิดอื่น ๆ ในนาข้าว โดยใช้สารเชื้อราบิวเวอเรียฉีดพ่นตัวเพลี้ยะที่มาเล่นไฟ หลังนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ"อรรถพร เฉยพันธ์ และทีมงาน สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีได้ร่วมกับนักวิชาการจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุทัยธานี และผู้นำชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ดำเนินการเตรียมการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวด้วยวิธีผสมผสานจนประสบความสำเร็จ โดยการใช้กับดักแสงไฟในเวลากลางคืนเพื่อเป็นการล่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยและแมลงศัตรูข้าวชนิดอื่นๆ ให้บินมาเล่นแสงไฟ หลังจากนั้นจึงทำการฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียให้โดนตัวแมลง และทำการปิดไฟเพื่อปล่อยให้เพลี้ยกระโดดกลับคืนสู่แปลงนาเพื่อทำการแพร่พันธุ์เชื้อราบิวเวอเรียให้กับแมลงศัตรูข้าวชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแปลงนาที่ไม่ได้บินมาเล่นแสงไฟ เสมือนเป็นแมลงพาหะนำเชื้อราไปแพร่กระจายต่อ โดย หลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน 

     "วิธีการที่เกษตรกรนิยมใช้กันคือนำเชื้อราบิวเวอเรียมาผสมผสมในอัตราส่วน 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จากนั้นนำมาฉีดพ่นในแปลงนาข้าว ในช่วงเช้าหรือเย็นในพื้นที่ที่เพลี้ยกระโดดระบาด เชื้อบิวเวอเรีย 1 กิโลฉีดพ่นนาข้าวได้ 3-4 ไร่ ถามว่าผลเป็นอย่างไร ไม่100% เพราะบางครั้งไม่โดนตัวเพลี้ยที่อาจหลบอยู่ในกอข้าว แต่ถ้าใช้วิธีกับดักแสงไฟโดยใช้แสงไฟเป็นตัวล่อเพลี้ยกระโดดออกมาเล่นไฟแล้วใช้สารบิวเวอเรียฉีดพ่นจะได้ผลมากกว่าและใช้เวลาไม่นานด้วย"

      อรรถพรอธิบายหลักการจัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยวิธีการล่อด้วยแสงไฟในเวลากลางคืน ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นการดัดแปลงมาจากการใช้กับดักด้วยแสงไฟ โดยนำแสงไฟมาล่อเพื่อให้เพลี๊ยะกระโดดสีน้ำตามาเล่นไฟในเวลากลางคืนจากนั้นก็จะมีถุงตาข่ายดักจับ ก่อนนำไปทำลายทิ้งในวันรุ่งขึ้น แต่่วิธีการนี้จะเป็นการทำลายเฉพาะเพลี๊ยะตัวที่มาเล่นไฟเท่านั้น หากแต่วิธีการใหม่นี้จะใช้เพลี๊ยะเป็นพาหะนำเชื้อบิวเวอเรียแพร่ไปสู่ตัวอื่น ๆ ในท้องทุ่งนาด้วย ถือเป็นการตัดวงจรของเพลี้ยะไปในตัว ซึ่งขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่จ.อุทัยธานีเริ่มหันมากำจัดเพลี้ยะกระโดดสีน้ำตาในนาข้าวด้วยวิธีดังกล่าวนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังได้มีการออกไปรณรงค์ส่งเสริม พร้อมแนะนำข้อดี ข้อเสียจากการใช้วิธีการเดิม

      สำหรับสารเชื้อราบิวเวอเรียนั้นถือเป็นเชื้อราที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมแมลงศัตรูพืช สามารถทำลายแมลงทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของแมลงพวกผีเสื้อ เพลี้ย แมลงหวี่ขาว ด้วง ตั๊กแตน ปลวก มอด มดคันไฟ ด้วงเต่า แมลงปีกแข็ง และไรศัตรูพืช การเข้าทำลายแมลงของเชื้อราบิวเวอเรีย โดยจะให้สปอร์ของเชื้อราตกลงบนผนังลำตัวของแมลง  จากนั้นสปอร์ก็จะเข้าสู่ลำตัวแมลงทางผนังลำตัว รูหายใจ บาดแผลบนลำตัว เมื่อมีความชื้นเหมาะสม สปอร์งอกและแทงทะลุผนังลำตัว โดยเฉพาะบริเวณผนังลำตัวที่อ่อนบาง เช่น รอยต่อระหว่างปล้องหรือรยางค์ต่างๆ เชื้อราจะเจริญสร้างเส้นใย ทำลายชั้นไขมันและกระจายไปทั่วช่องว่างภายในตัวแมลง ทำลายอวัยวะและระบบกลไกต่างๆ ในตัวแมลงเมื่อเชื้อราสร้างเส้นใย จนเต็มตัวแมลง แมลงแสดงอาการเป็นโรค เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่เคลื่อนไหว และตายในที่สุด หลังจากนั้นเชื้อราจะแทงผ่านผนังลำตัวแมลงออกมาภายนอก และสร้างสปอร์คล้ายฝุ่น สีขาวปกคลุมตัวแมลง สปอร์แพร่กระจายไปตามลม ฝน แมลงที่มาเกาะบริเวณที่มีเชื้อรา หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อราก็จะทำลายแมลงศัตรูพืชต่อไป 

    ในขณะที่ กำนันวิเชียร กีตา  เกษตรกรบ้านป่าเลา ต.เขาบางแกรก อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรแกนนำที่ใช้สารเชื้อราบิวเวอเรียกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวด้วยวิธีการใช้เป็นพาหะจาการล่อแสงไฟเพื่อนำไปทำลายตัวอื่น ๆ จนประสบความสำเร็จและพร้อมขยายผลไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเขาระบุว่าตนเแงมีที่นานประมาณ 40 ไร่ปลูกข้าวกข.43 เมื่อก่อนใช้สารเคมียาฆ่าแมลงทำการฉีดพ่น ส่งผลทำให้ต้นทุนสูง แต่หลังจากมีเจ้าหน้าที่มาส่งเสริมการใช้สารบิวเวอเรียเพื่อกำจัดเพลี้ยะกระโดดสีน้ำตาล ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะเห็นผลช้ากว่าก็ตาม

    “เมื่อก่อนผมใช้สารเคมียาฆ่าแมลงฉีดพ่น พอมาคำนวนต้นทุนการผลิตพบว่าเฉพาะยาฆ่าแลงอยู่ที่ 5-6 หมื่นต่อฤดูกาลผลิต แต่พอหันมาใช้สารชีวภัณฑ์จำนวนไตรโคเดอม่า เชื้อราบิวเวอเรีย ต้นทุนอยู่แค่หลักร้อยหลักพันเท่านั้นเอง และยังเป็นสารอินทรีย์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้วที่สำคัญสารชีวภัณฑ์เหล่านี้สามารถไปขอได้ฟรีจากสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ใกล้บ้านท่านอีกด้วย"กำนันคนเดิมกล่าวทิ้งท้าย

     นับเป็นอีกก้าวของการกำจัดแมลงศัตรูพืชในนาข้าว โดยเฉพาะเพลี้ยะกระโดดสีน้ำตาล ด้วยวิธีการล่อแสงไฟเพื่อใช้เป็นพาหะนำเชื้อราบิวเวอเรียแพร่กระจายไปสู่ศัตรูพืชชนิดอื่นในท้องนา เสมือนหนึ่งยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูงนั่นเอง เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและวิธีการใช้ได้ที่คุณอรรถพร เฉยพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการและทีมงาน สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี โทร.08-6655-0954 ,0-5651-1116 ได้ทุกวันในเวลาราชการ

     

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ