ข่าว

มฤตยู'หนอนหัวดำ' ทำลายล้างมะพร้าว ระบาด29จังหวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มฤตยู'หนอนหัวดำ' ทำลายล้างมะพร้าว ระบาด29จังหวัด

            ใครจะไปนึกว่า "หนอนหัวดำ” แมลงต่างถิ่นศัตรูสำคัญของต้นมะพร้าว มีถิ่นกำเนิดในแถบศรีลังกา อินเดียและบังกลาเทศได้เข้ามาทำลายสวนมะพร้าวในประเทศไทยอย่างย่อยยับในช่วงเวลาเพียง 10 ปี หลังจากเคยมีการระบาดอยู่ในวงจำกัดเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนลุกลามขยายการระบาดออกไปครอบคลุมพื้นที่มากถึง 78,954 ไร่ ใน 29 จังหวัดในปีนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อ่างทอง ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา อุดรธานี สงขลา สตูล นราธิวาส บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และปัตตานี

              ส่งผลให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 287.73 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ)  ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยบูรณการหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่เข้ามาดำเนินการอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2560 ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อตัดวงจรการระบาดไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจคือ ปาล์มน้ำมัน และเพื่อควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่แห่งใหม่

                จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศประมาณ 1.24 ล้านไร่ ในจำนวนดังกล่าวพบพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำ 78,954 ไร่ ครอบคลุม 29 จังหวัด แต่ที่พบการระบาดรุนแรงมากที่สุดใน 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 62,410 ไร่ พบการระบาดของหนอนหัวดำในทุกอำเภอ และสุราษฎร์ธานี 5,536 ไร่ ชลบุรี 4,024 ไร่ สมุทรสาคร 2,669 ไร่ และฉะเชิงเทรา 953 ไร่ ซึ่งการระบาดของแมลงหนอนหัวดำในปีนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท เฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท และพื้นที่อื่นๆ ใน 28 จังหวัดอีกกว่า 5,000 ล้านบาท

               “ต้องยอมรับว่าแก้ปัญหาศัตรูมะพร้าวระบาด โดยเฉพาะหนอนหัวดำที่ผ่านมา เราได้เฉพาะบางจุด ที่เกษตรกรให้ความร่วมมือ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด บางพื้นที่เจ้าของสวนไม่อนุญาต บางสวนก็ปล่อยไปตามยถากรรม ไม่เข้า ไม่สนใจ เพราะเจ้าของสวนไม่ใช่คนในพื้นที่ ทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อของหนอนหัวดำหรือศัตรูมะพร้าวอื่นๆ และแพร่ระบาดต่อไปอีก แต่ต่อไปนี้เราจะเรียงแถวหน้ากระดานจัดการทำลายในทุกพื้นที่ที่มีการระบาด ไม่ว่าเจ้าของสวนจะอนุญาตหรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่อนุญาตก็จะนำมาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการ  ที่ผ่านมาจะใช้วิธีการขอความร่วมมือเป็นหลัก”

                 ประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในโครงการป้องกันและกำจัดศัตรูมะพร้าว(หนอนหัวดำ) ณ โรงแรมเอบีน่า ถ.วิภาวดีรังสิต 64 ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา จำนวน 355 คนจาก 29 จังหวัดที่พบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต และเกษตรอำเภอ เพื่อให้ความรู้ด้านการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวและสามารถนำไปวางแผนปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมายของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว ตัดวงจรการระบาดได้อย่างสิ้นซาก

             โดยในระยะแรก กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกันดำเนินการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานีก่อน ซึ่งพบปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการกับหนอนหัวดำในสวนมะพร้าวในบางพื้นที่ได้ โดยปัญหาแรกมาจากการที่เกษตรกรเจ้าของสวนบางรายไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้สารเคมีตามหลักวิชาการเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ และอีกปัญหาหนึ่งคือ เจ้าของสวนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปล่อยให้สวนทิ้งร้าง กลายเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ของหนอนหัวดำ

             สำหรับวิธีการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำนั้น มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความพึงพอใจของเกษตรกร เจ้าของสวนมะพร้าว เริ่มจากการตัดทางใบมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายแล้วนำมาเผาทำลาย การพ่นสารเคมีทางใบในมะพร้าวกรณีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร การฉีดสารเคมีเข้าลำต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร และการปล่อยแตนเบียนบราคอนเพื่อทำลายหนอนหัวดำ

                 ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำในระดับรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิธีพ่นสารทางใบสำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร โดยใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ และครอแรนทรานิลิโพรล   สำหรับมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการฉีดเข้าลำต้น โดยใช้สารอีมาเม็กติน เบนโซเอต   ซึ่งได้รับยืนยันจากผลการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ว่าสามารถตัดวงจรชีวิตหนอนหัวดำได้ผลดีที่สุด

                 ขณะเดียวกันการใช้สารดังกล่าวเกษตรกรและผู้บริโภคไม่ต้องกังวลว่าจะมีพิษตกค้างในมะพร้าว เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีผลการทดลองการศึกษาพิษตกค้างตามมาตรฐานสากล (CODEX) ได้ยืนยันแล้วว่าไม่พบสารตกค้างทั้งเนื้อและน้ำมะพร้าว  ดังนั้นการใช้สารเคมีตามคำแนะนำทางวิชาการทั้งสองวิธีดังกล่าวไม่มีโอกาสที่สารเคมีจะแทรกซึมเข้าไปในน้ำและเนื้อมะพร้าวอย่างแน่นอน

               ขณะที่ มงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยอมรับว่า พื้นที่ปลูกมะพร้าวของ จ.ประจวบฯ ประมาณ 5 แสนไร่ ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวกะทิ จากการสำรวจทั้ง 8 อำเภอ พบว่ามีการระบาดของหนอนหัวดำมากที่สุดในรอบ 10 ปี มะพร้าวต้นต่ำกว่า 12 เมตร เสียหายแล้วกว่า 1.5 ล้านต้น ส่วนมะพร้าวสูงกว่า 12 เมตร เสียหาย 2.5 ล้านต้น สำหรับ อ.ทับสะแก แหล่งผลิตมะพร้าวคุณภาพดีได้รับความเสียหายมากที่สุด 2 ล้านต้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งและสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้หนอนหัวดำขยายพันธุ์และระบาดอย่างรวดเร็ว

               “ขณะนี้เกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังประสบปัญหาศัตรูพืชมะพร้าวระบาดอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนาม และด้วงแรด ซึ่งหนอนหัวดำมะพร้าวมีการระบาดมากที่สุด ประมาณ 6.5 หมื่นไร่ มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนกว่า 7,000 ราย นับว่าเป็นการระบาดรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยประสบมา” เกษตรจังหวัดประจวบฯกล่าวย้ำ

              อย่างไรก็ตามจากการสำรวจข้อมูลราคาซื้อขายมะพร้าวหน้าสวน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เมื่อปี 2559 ระบุว่า ราคาจำหน่ายหน้าสวนอยู่ที่ 19.60 บาทต่อผล คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4,423 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตมะพร้าวจะป้อนให้โรงงานแปรรูป โรงงานกะทิ เป็นต้น แต่หลังจากประสบปัญหาหนอนหัวดำระบาด ทำให้ปัจจุบันราคามะพร้าวผลใหญ่พุ่งสูงขึ้นถึง 23-25 บาทต่อผล และไม่มีท่าทีจะลดลงแต่อย่างใด

ภัย“หนอนหัวดำ”จ่อทำอุตสาหกรรมมะพร้าวพัง

           เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกะทิสำเร็จรูปตรา “ชาวเกาะ” มองว่า การระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนามทำให้ต้นมะพร้าวตาย ผลผลิตลดลงส่งผลให้บริษัทต้องประสบปัญหามะพร้าวที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้บริษัทต้องหันไปนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซียและเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 90% ของปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตกะทิ และน้ำมะพร้าวบรรจุกล่อง ซึ่งบริษัทใช้มะพร้าววันละ 4 แสนลูก โดยเริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2558 ส่วนอีก 10% ใช้มะพร้าวในประเทศ ซึ่งเวลานี้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยคิดจากเนื้อมะพร้าวที่ในอดีตต้นทุนเฉลี่ยที่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุดเฉลี่ยที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม หรือสูงขึ้น 100%

            “ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่เราปรับราคาขายสำหรับตลาดในประเทศลำบาก เพราะกำลังซื้อในประเทศก็หดตัว แต่โชคดีได้ตลาดส่งออกมาช่วย ในปีที่ผ่านมาเราส่งออกเป็นกะทิสำเร็จรูปบรรจุกล่อง 60% และอีก 40% เป็นน้ำมะพร้าว โดยส่งออกกะทิสำเร็จรูปไปทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 60 ประเทศ มีตลาดหลักที่สหรัฐอเมริการวมถึงแคนาดาสัดส่วน 70% ที่เหลือส่งออกไปยังประเทศในยุโรป เอเชีย อาเซียน และตะวันออกกลาง”

            ณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน เจ้าของบริษัท เอ็น.ซี.โคโคนัท จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอมและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอม ภายใต้แบรนด์ “N.C. CoCoNut” ใน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ยอมรับว่ามะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ยังไม่มีผลกระทบจากแมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนหัวดำหรือแมลงดำหนามเข้าทำลาย เนื่องจากได้รับการดูแลจากเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นอย่างดี อีกทั้งมะพร้าวน้ำหอมส่วนใหญ่ต้นไม่สูงมากนัก สามารถจัดการดูแลได้อย่างทั่วถึง ส่วนราคาซื้อขายหน้าสวนขณะนี้อยู่ที่ผลละ 15-18 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รับได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

            “ยอมรับว่าช่วงนี้ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมออกมาน้อย แต่ไม่ใช่สาเหตุมาจากแมลงศัตรูพิืชหนอนหัวดำทำลาย มันเป็นปกติแบบนี้ทุกปีตั้งแต่ปลายหน้าหนาวสู่หนาวร้อนผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมจะมีน้อย เท่าที่สอบถามเกษตรกรในเครือข่ายก็ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ไม่เหมือนแถวทางใต้ที่ยอมรับว่าปีนี้เจอหนักที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดของหนอนหัวดำ ก็เป็นห่วงเหมือนกัน ถ้าเกิดระบาดในมะพร้าวน้ำหอมจะทำอย่างไร เพราะไม่มีวัตถุดิบทำแทน ไม่เหมือนมะพร้าวกะทิ ที่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้” ณรงค์ศักดิ์ เผย พร้อมระบุว่า ขณะนี้ตลาดมะพร้าวน้ำหอมยังไปได้ดี โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และจีน โดยมีเกาหลีและญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจสั่งนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

                อย่างไรก็ตามการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศในขณะนี้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตามโควตานำเข้าประมาณปีละพันกว่าล้านบาท โดยนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และมาเลเซีย แต่พบว่าคุณภาพยังสู้มะพร้าวของ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ได้ เนื่องจากมะพร้าวของไทยมีปริมาณน้ำมันสูงกว่า ทั้งนี้คาดว่าหากไม่ดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือเกษตรกร จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

  4 วิธีป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว

             การป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถดำเนินการใน 4 วิธีดังนี้ 1.ตัดทางใบที่มีหนอนหัวดำลงทำลายแล้วนำลงมาเผาหรือฝังทำลาย 2.การพ่นด้วยชีวภัณฑ์บีที ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช อัตรา 80-100 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นละ 3-5 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม ขึ้นกับขนาดทรงพุ่ม และเครื่องพ่น ให้พ่น 3 ครั้งติดต่อกัน ห่างกันครั้งละ 7-10 วัน

             3.การใช้แตนเบียนควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว โดยแตนเบียนโกนิโอซัส นีแฟนติดีส แนะนำให้ปล่อยตัวเต็มวัย อัตรา 50–100 ตัวต่อไร่ ปล่อย 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน หากสามารถปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัสได้มากจะทำให้เห็นผลในการควบคุมเร็วขึ้น และ 4.การควบคุมด้วยสารเคมีโดยวิธีฉีดเข้าลำต้น เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่พบหนอนหัวดำระบาดรุนแรง ห้ามใช้กับมะพร้าวที่มีลำต้นสูงน้อยกว่า 12 เมตร และไม่ให้ใช้ในมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ