ข่าว

รัฐปัดฝุ่นโปรเจกต์น้ำ 1.7 ล้านล้าน“โขง-เลย-ชี-มูล”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐปัดฝุ่นโปรเจกต์ 1.7 ล้านล้าน“โขง-เลย-ชี-มูล” ปลุกแหล่งน้ำอีสานสู่ความยั่งยืน

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศ คือ 69.91 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดเพียง 8.06 ล้านไร่ หรือร้อยละ 11.53 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่อีกกว่า 60 ล้านไร่ ยังต้องอาศัย “น้ำฝน” ทำให้ขาดความมั่นคงในเรื่องน้ำ อีกทั้งในฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วม และในฤดูแล้งก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำซ้ำซาก เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี

รัฐปัดฝุ่นโปรเจกต์น้ำ 1.7 ล้านล้าน“โขง-เลย-ชี-มูล”

           จึงไม่แปลกที่ผลผลิตข้าวนาปีเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ค่อนข้างต่ำ เพียงประมาณ 360 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ชลประทานในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะกลางมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยสูงถึงไร่ละ 1,000 กิโลกรัม ดังนั้นเกษตรกรในภาคอีสานจึงมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำเพียง 87,486 บาท/ครัวเรือน/ปี ต่ำกว่าเกษตรกรภูมิภาคอื่นๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 148,437 บาท/ครัวเรือน/ปี ประชากรในภาคอีสานจึงมีคนยากจนมากที่สุดถึง 1.93 ล้านคน และยังมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นทะเลทรายมากถึงประมาณ 9 ล้านไร่อีกด้วย

           อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในภาคอีสานนั้น ไม่น่าจะแห้งแล้งเพราะมีฝนตกเฉลี่ยไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ เลยคือ  ประมาณ 1,300 มิลลิเมตร/ปี แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทำให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อย พื้นที่ที่เหมาะสมจะอยู่บริเวณต้นน้ำด้านทิศตะวันตกกลับมีฝนตกน้อย และยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงค่อนข้างนานอีกด้วย ในขณะที่ด้านทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโขงเป็นที่ราบลุ่มกลับมีฝนตกชุก แต่กลับมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อยมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม

รัฐปัดฝุ่นโปรเจกต์น้ำ 1.7 ล้านล้าน“โขง-เลย-ชี-มูล”

           ความไม่สมดุลของการกระจายตัวของฝนและลักษณะภูมิประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคอีสานแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้พื้นที่ป่าของภาคอีสานที่มีค่อนข้างน้อย ทำให้ปริมาณน้ำที่ซึมซับอยู่ใต้ดินก็มีน้อย เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้พื้นดินมีความแห้งแล้งมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งและปลายฤดูฝน

              ส่วนข้อดีของภาคอีสานนั้นคือ มีศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ค่อนข้างพร้อม คือ มีประชากรมากถึงร้อยละ 33 ของประเทศ และส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีแรงงานภาคเกษตร ร้อยละ 50 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรดิน คือ มีพื้นที่ถือครองการเกษตรมากถึงร้อยละ 43 ของประเทศ ดังนั้น หากสามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง “น้ำ” ก็จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้ ความมั่นคงในอาชีพการเกษตร ฐานะทางด้านเศรษฐกิจของเกษตรกรจะเกิดขึ้นทันที เพราะจะทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เต็มศักยภาพจากปัจจุบันที่ใช้ที่ดินทำการเกษตรได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน 4-5 เดือนเท่านั้น และยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอีกด้วย

              แต่การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อยแล้ว ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างในการที่จะพัฒนาของสังคม ทำให้โอกาสในการพัฒนาโครงการแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่ทำได้เพียงแหล่งน้ำขนาดเล็ก อย่างเช่น แก้มลิง ฝาย ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

รัฐปัดฝุ่นโปรเจกต์น้ำ 1.7 ล้านล้าน“โขง-เลย-ชี-มูล”

               ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการก่อสร้างแก้มลิงในลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยระบุว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกพื้นที่ การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในภาคอีสานนั้นว่า มีแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการพิจารณานำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น แก้มลิง ฝาย ประตูระบายน้ำ เป็นต้น เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติและดำเนินการก่อสร้างแก้มลิง จำนวน 30 แห่ง ใน 5 จังหวัดในลุ่มน้ำโขง-อีสาน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

                อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นคงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว มีโครงการที่สำคัญๆ และมีความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานกำลังการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการทั้งด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม พร้อมทั้งมีการจัดทำแบบจำลองทางกายภาพของโครงการขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ศึกษาในรายละเอียดเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า จะสามารถส่งน้ำให้ไหลผ่านทางอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่และมีความยาวได้ โดยจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงด้วย

              “โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เป็นการผสมผสานแนวคิดเดิมและเสนอแนวคิดใหม่ในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำให้เป็นระบบ โดยใช้หลักการพัฒนาแบบองค์รวมเชื่อมโยงกันระหว่างโครงการที่พัฒนาแล้วกับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จรวบยอด เกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งภาคอีสาน ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้าจากการมีน้ำใช้หล่อเลี้ยงชีวิตให้อุดมสมบูรณ์และมีโอกาส มีทางเลือกหลากหลายในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขสมบูรณ์”  ดร.สมเกียรติกล่าวยืนยัน

                สำหรับการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล  โดยแรงโน้มถ่วงนั้น หากจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพก็จะมีการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำ สายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,084 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมถึง 20 จังหวัด 281 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานได้ 33.50 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 21.78 ล้านไร่ และพื้นที่ส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำอีก 11.72 ล้านไร่ ปริมาณน้ำที่จะส่งในฤดูฝนประมาณ 22,274 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และในฤดูแล้งประมาณ 10,260 ล้าน ลบ.ม. 

               อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานนั้น จะดำเนินการพัฒนาโครงการในระยะที่ 1 ก่อน โดยจะสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 1 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 2 สาย ระยะทางรวม 244 กิโลเมตร  เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 6 จังหวัด 22 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานได้ 1.69 ล้านไร่  โดยแบ่งเป็นส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 0.94 ล้านไร่ และส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำ 0.75 ล้านไร่ ปริมาณน้ำส่งในฤดูฝน 1,669 ล้าน ลบ.ม.  และปริมาณน้ำส่งในฤดูแล้ง 1,259 ล้าน ลบ.ม.

             ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวถึงแม้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 1.785 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับแล้วถือว่าคุ้มค่า เพราะจะสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 32,534 ล้านลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่เต็มความจุ 3 เขื่อน ซึ่งสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนและสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานได้อย่างเบ็ดเสร็จ

            สำหรับผลกระทบต่อแม่น้ำโขงนั้น รองอธิบดีกรมชลประทานระบุว่ามีน้อยมาก เพราะเป็นการนำน้ำจากแม่น้ำภายในประเทศมาใช้ประโยชน์ ไม่ได้นำน้ำจากแม่น้ำโขงโดยตรง และหากโครงการนี้พัฒนาเต็มศักยภาพจะทำให้แม่น้ำโขงลดลงไม่ถึง 25 เซนติเมตร

            รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย โดยจะทำการปรับปรุงปากแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ และขุดเจาะปากทางเข้าอุโมงค์ส่งน้ำ พร้อมก่อสร้างอาคารชลประทานพร้อมระบบกระจายน้ำ เพื่อกระจายน้ำให้แก่พื้นที่ต่างๆ และนำส่วนที่เหลือน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี

             นอกจากนี้ ผลศึกษายังได้เสนอให้มีการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อยกระดับน้ำให้ไหลไปตามลำน้ำเลยเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเก็บกักตามลำน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อให้พื้นที่สองฝั่งลำน้ำเลยมีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ยังเสนอให้มีการพัฒนาระบบชลประทานด้วยการสูบน้ำ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรได้อีกประมาณ 66,905 ไร่ ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณบ้านธาตุ อ.เชียงคาน ขึ้นไปจนถึงตัวอำเภอเมืองเลยด้วย

             ผลจากการพัฒนาตามโครงการนี้จะทำให้อีสานมีคลองชลประทานขนาดใหญ่เพิ่มอีก 6 สายที่วางตัวอยู่บนขอบเนินที่สูง มีน้ำไหลตลอดปี และเป็นการฟื้นชีวิตลำน้ำธรรมชาติเกือบทุกสายในภาคอีสาน โดยเฉพาะลุ่มน้ำมูล  ลุ่มน้ำชี  และพื้นที่ลุ่มน้ำเลยจุดเริ่มต้นของโครงการ

              9Nอีสานจะเขียวขจีทั่วทุกพื้นที่ ความเป็นอยู่ที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

 สรุปโครงการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล

การพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพ

1.สร้างอุโมงค์น้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,084 กม.

2.พื้นที่รับประโยชน์ 20 จังหวัด 281 อำเภอ

3.พื้นที่ส่งน้ำชลประทานสุทธิ 33.50 ล้านไร่

4.ส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วง 21.78 ล้านไร่ และส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำ 11.72 ล้านไร่

5.เติมน้ำในเขื่อนต่างๆ รวม 1.062 ลบ.ม./ปี สามารถช่วยพื้นที่ชลประทานเดิม 802,728 ไร่

6.ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในฤดูฝน 22,274 ล้านลบ.ม. และปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในฤดูแล้ง 10,260 ล้านลบ.ม.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ