ข่าว

"ลำนางรอง"เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร-ส่วนราชการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โครงการส่งน้ำฯลำนางรองมุ่งเน้น "การมีส่วนร่วมของเกษตรกร-ประสานส่วนราชการ"

                 การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ การมีส่วนร่วมของประชาชน มีเรื่องราวเล่าขานมากมาย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง มีอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ก่อสร้าง พ.ศ.2522 แล้วเสร็จในปีเดียว ความจุ 2.848 ล้าน ลูกบาศก์เมตรพื้นที่ชลประทาน 446 ไร่ และ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง ก่อสร้าง พ.ศ.2523 แล้วเสร็จ พ.ศ.2525 ความจุ 121.414 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 83,702 ไร่ ทั้ง 2 แห่งอยู่ในเขต อ.โนนดินแดง

"ลำนางรอง"เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร-ส่วนราชการ

              ส่วน อ.ละหานทราย มี 2 แห่งเช่นกัน คือ อ่างเก็บน้ำลำปะเทีย ก่อสร้าง พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2527 ความจุ 25.4 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 29,777 ไร่ และ อ่างเก็บน้ำลำจังหัน ก่อสร้าง พ.ศ. 2529 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2535 ความจุ 36.00 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 25,255 ไร่ หากย้อนรอยเมื่อ พ.ศ.2520 ใน อ.ละหานทราย ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้แผ่อิทธิพลขัดขวาง การพัฒนาพื้นที่สีแดงแห่งนี้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนสาย อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นเหตุให้ราษฎรและเจ้าหน้าที่สูญเสียเป็นอย่างมาก

"ลำนางรอง"เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร-ส่วนราชการ

             ความได้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2521 ได้โปรดฯ ให้อธิบดีกรมชลประทานเข้าเฝ้า เพื่อสนองรับพระราชดำริในการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งในข้างต้น เพื่อการเอาชนะความยากจนให้กับราษฎรในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ได้ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาให้กับชุมชน ต.โนนดินแดง ของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาละหานทราย เมื่อเวลาล่วงเลยมาร่วม 40 ปี จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการน้ำก็เพิ่มขึ้น ขณะที่ความจุน้ำของอ่างฯ ยังคงเท่าเดิมที่ 2.848 ล้าน ลบ.ม. และการประปาขอใช้ประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม./ปี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อยมาก ทั้งที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูทำนาปี 2558

            สุพัฒน์ ฤทธิชู ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงทางเลือกของการใช้น้ำชลประทาน โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาลำนางรอง ในการประชุมผู้ใช้น้ำ โดยตั้งคำถามว่า “ระหว่างข้าวขาดน้ำกำลังจะตาย กับคนขาดน้ำกำลังจะตาย จะช่วยใครก่อน” มติเอกฉันท์จากผู้เข้าประชุม “ช่วยคนก่อน” ดังนั้นการส่งน้ำทำนาปีจึงต้องชะลอไว้ก่อน

                  แต่การจะให้เสียสละตลอดไป จะสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้เกษตรกรมาก นายสุพัฒน์ จึงประสานไปยัง นายฉลวย กาบบัวศิริ ผู้จัดการประปา สาขาละหานทราย เพราะเล็งเห็นว่าอ่างเก็บน้ำ ลำนางรอง ที่อยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำมากถึง 70-80 ล้านลูกบาศก์เมตร น่าจะเป็นทางออกที่ดี หากการประปาฯ จะย้ายแหล่งสูบน้ำดิบผลิตประปามาที่นี่แทน เพราะไม่กระทบต่อน้ำ เพื่อการเกษตร การประปาละหานทรายเห็นชอบ และได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างแพสูบน้ำจากเขื่อน ลำนางรอง เมื่อ มกราคม 2559

                จากนั้นในเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา ทางโครงการฯได้เริ่มสูบน้ำจากอ่างฯ ลำนางรองอย่างถาวร สร้างความปีติให้กับเกษตรกรผู้ใช้น้ำ อ่างฯ คลองมะนาวเป็นอย่างยิ่ง เพราะปริมาณน้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. มีค่าสำหรับพวกเขามากมาย

                    อย่างไรก็ดี อ่างฯ ลำนางรองกลับเผชิญปัญหาการส่งเสริมเลี้ยงปลากระชัง โดยกรมประมง อายุสัมปทาน 5 ปี (2550-2555) จำนวน 11 ราย จำนวน 112 กระชัง เดิมทีกำหนดส่งเสริมเลี้ยงในทางน้ำสาธารณะ ไปๆ มาๆ กลายเป็นเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำลำนางรอง ซึ่งเป็นทางน้ำชลประทาน และมีกฎหมาย ของกรมชลประทานบังคับโดยเฉพาะ แถมยังเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานวางแผนคืนให้กรมป่าไม้ในปี 2559 ซ้ำร้ายกว่านั้น กลับมีการขยายจำนวนผู้เลี้ยงเป็น 28 ราย จำนวน 425 กระชัง

"ลำนางรอง"เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร-ส่วนราชการ

                  ถ้าส่วนราชการในจังหวัดบุรีรัมย์ไม่ร่วมจับมือเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นการมีส่วนร่วมของภาคราชการด้วยกันนอกเหนือจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกร โอกาสที่จะรื้อกระชังปลาในอ่างฯ ลำนางรอง แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะผู้เลี้ยงเองโยกโย้คัดค้านอยู่หลายครั้ง กระทั่งท้าทายให้ กรมชลประทานฟ้องร้องศาล ผลสำเร็จการการรื้อกระชังปลาคุ้มค่ามาก เพราะคุณภาพน้ำในอ่างฯ ลำนางรองดีขึ้นชัดเจน ช่วยให้การประปาส่วนภูมิภาค ตัดสินใจสูบน้ำดิบจากที่แหล่งนี้เป็นการถาวร แทนโยกกลับไปสูบที่อ่างฯ คลองมะนาว เท่ากับอ่างฯ คลองมะนาว มีน้ำบริบูรณ์ขึ้นมาทันที 1 ล้าน ลบ.ม./ปี

                   ขณะเดียวกัน สิ่งที่นายสุพัฒน์ได้รับประสบการณ์ตรงจากการร่วมประชุมกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำคือ เกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจระบบส่งน้ำชลประทาน ไม่รู้ว่าน้ำชลประทานจากต้นน้ำไปยังปลายคลอง ส่งน้ำจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด รวมทั้งจะถึงแปลงของตนเอง เมื่อไม่รู้ความขัดแย้งก็จะติดตามมาทันที เพราะต่างคนต่างมุ่งหวังได้น้ำทั้งสิ้น กลายเป็นมือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลายน้ำจึงไม่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง

                   เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้รับรู้ร่วมกัน จึงมีการทดสอบการส่งน้ำ 3 อ่างฯ ที่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ ยกเว้นอ่างฯ คลองมะนาว ที่น้ำต้นทุนน้อยมาก ก่อนทดสอบการส่งน้ำให้ปิดท่อระบายน้ำทุกแห่งที่รับน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ และให้ถือว่าน้ำเต็มคลองต่อเมื่อระดับน้ำในคลองส่งน้ำต่ำกว่าขอบคอนกรีต 15 เซนติเมตร และกำหนดให้ช่วงปลายคลองรับน้ำก่อน ถัดมาเป็นกลางคลองและต้นคลอง เป็นลำดับ

                   “เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้นำองค์กรผู้ใช้น้ำทุกกลุ่ม ทุกอ่างฯ ได้รับรู้ระยะเวลาการไหลของน้ำจากที่ไม่เคยรู้มาก่อน และเป็นการสร้างความสะดวกในการรับน้ำชลประทาน รวมทั้งแบ่งปันน้ำเข้าสู่ระบบการรับน้ำแบบรอบเวรอย่างเป็นรูปธรรม”

                     ผลการทดสอบพบว่า คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของเขื่อนลำนางรอง ความยาว 50 กิโลเมตรประสบปัญหาคลองส่งน้ำบางช่วงชำรุด เพราะมีการรั่วไหลลอดบริเวณท่อลอดคลองส่งน้ำ รวม 13 จุด เพราะหากรองบประมาณซ่อมแซมจากกรมชลประทาน ต้องรออีกนาน นายสุพัฒน์จึงนำปัญหา ให้เกษตรกรลองช่วยพิจารณาว่า ระหว่างคลองส่งน้ำขาด ต้องรองบประมาณซ่อมแซมจากกรมชลประทาน กับ ต้นข้าวต้องรอน้ำ อันไหนรอได้นานกว่ากัน

                     เกษตรกรตัดสินใจไม่รองบประมาณ แต่หาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง โดยการหาเงินทุนซ่อมแซมพอให้น้ำไหลไปได้ก่อน จึงเกิดแนวคิดทอดผ้าป่าข้าวใหม่สามัคคี ให้เกษตรกรทำบุญด้วยข้าวเปลือกใหม่หรือปัจจัยเงินสดตามจิตศรัทธา ทอดเสร็จพระสงฆ์จะอนุโมทนาคืนข้าวและปัจจัยเงินสด

                  ไม่น่าเชื่อว่า ครั้งแรกของผ้าป่าข้าวใหม่สามัคคีในปี 2558 ได้ข้าวเปลือกมา 15 ตัน พร้อมเงินสด 7 หมื่นบาท ใช้เวลาบอกบุญ 1 เดือน พอ 2559 ทดสอบอีกครั้งได้ข้าวเปลือกว่า 7 ตัน เงินสดกว่า 50,000 บาท แต่บอกบุญในเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์

                    “เกษตรกรเขารับแนวคิดนี้ เพราะเขาช่วยตัวเองได้ คนมีข้าวทำบุญด้วยข้าวเปลือก คนมีเงินทำบุญด้วยเงิน ครั้งที่สองผมใช้เวลาสั้นมากเพื่อต้องการหยั่งกระแสว่าเขาคิดอะไร ซึ่งชัดเจนว่าเขาเห็นหนทาง พึ่งตัวเองได้แล้ว”

                  เงินกองทุนพึ่งพาตัวเองใช้ซ่อมอาคารชลประทานที่ชำรุดเสียหายชั่วคราวไปก่อน จนกว่าจะได้รับงบประมาณก็จะซ่อมแซมเป็นการถาวร กองทุนก้อนนี้ก็จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งเฉพาะหน้า และใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยไม่ต้องรอพึ่งจากใคร

                   ขณะที่ สุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า การมีสวนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ลำนางรอง จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปพัฒนาขยายผลต่อ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม

"ลำนางรอง"เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร-ส่วนราชการ

                  “การทดสอบการไหลของน้ำ เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในการทำให้เกษตรกรได้รับรู้ระยะเวลาส่งน้ำ ได้เห็นปัญหาทั้งของตัวเองและทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พอเห็นคนอื่นมีปัญหาไม่แพ้กันก็จะลดความเห็นแก่ตัวลง และหันมาร่วมแก้ไขปัญหาแทน และรู้สึกเห็นใจคนอื่น พร้อมแบ่งปันน้ำมากขึ้น”

               อาจกล่าวได้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน  ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์กรมชลประทานที่ประกาศใช้ในปี 2560 นี้  ซึ่งจะทำให้การขยายงานชลประทานได้รับความร่วมมือมากยิ่งขึ้น และเกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ