ข่าว

ตอบโจทยฺ์อนาคตข้าวไทย งานวิจัยท้าทายเกษตร4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตอบโจทยฺ์อนาคตข้าวไทย งานวิจัยท้าทายเกษตร4.0

             เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศสู่การใช้ประโยชน์ กลุ่มเรื่องข้าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ(คอบช.) จัดสัมมนานำเสนอผลงานวิจัยแบบมุ่งเป้า ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวอย่างครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยขยายผลสู่เกษตรกรและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นการท้าทายอนาคตข้าวไทยภายใต้นโยบายเกษตร 4.0

 ตอบโจทยฺ์อนาคตข้าวไทย งานวิจัยท้าทายเกษตร4.0

             พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ กลุ่มเรื่องข้าว โดยระบุว่าได้เชิญผู้ที่รับผิดชอบด้านงานวิจัย ผู้มีความรู้ประสบการณ์ในด้านเกษตรโดยเฉพาะเรื่องข้าว มาพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นในการร่วมมือกันปลูกข้าว และผลิตข้าวออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ ถือว่าเป็นการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพของข้าว ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณการปลูกในประเทศจำนวนมาก และในอนาคตจะให้ผู้ประกอบการนำผลวิจัยไปผลิต ทำให้ผลผลิตมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และจะมีการจำหน่ายออกไปทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย 

           “ผลงานวิจัยทั้งหมดที่รัฐบาลสนับสนุนไปแล้วนั้นจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการนำผลวิจัยมาใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และหวังว่าการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องข้าวในวันนี้จะมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งนักธุรกิจ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องสนใจนำผลงานวิจัยไปขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ จะไม่ปล่อยให้ผลงานวิจัยขึ้นหิ้งเหมือนอย่างในอดีตอีกแล้ว”

           ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องงานวิจัย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการปฏิรูปงานวิจัยครั้งใหญ่ โดยรวมงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังปฏิรูปบุคลากร โดยการพัฒนาคน พัฒนาโครงการให้มีความต่อเนื่อง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

             ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนดำเนินการในเรื่องการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยขณะนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ทั้งในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกด้วย 

            “ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้บริหารจัดการทุนวิจัย จนมีผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ในกรอบแนวทางของการแก้ไขปัญหาข้าวครบวงจร ทั้งในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนเภสัช เวชภัณฑ์และเวชสำอาง โดยในปีงบประมาณ 2555-2557 สวก.ได้จัดสรรทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย รวมทั้งสิ้น 608 ล้านบาท จำนวน 192 โครงการ” 

               ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวถึงการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ว่าเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เสร็จสิ้นแล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบ และนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงวิชาการ และเชิงสาธารณะ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านข้าวในอนาคต โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบกับผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดทางธุรกิจอีกด้วย  

             นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาแบบมุ่งเป้าต่อยอดงานวิจัยข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล

                                        .......................................................

  3ปีทุ่มงบวิจัยข้าว 608 ล้าน 192 โครงการ

             ในระหว่างปีงบประมาณ 2555-2557 สวก.ได้จัดสรรทุนวิจัยกลุ่มข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวให้แก่นักวิจัย รวมทั้งสิ้น 608 ล้านบาท จำนวน 192 โครงการ  ซึ่งมีผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

- ผลงานที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้จดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 52 คำขอ มีผลงานวิจัยที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนนำไปผลิตเป็นการค้าแล้ว 10 ราย จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.การออกแบบสร้างเครื่องให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกสำหรับฆ่ามอดข้าว 2.โครงการคุณลักษณะจำเพาะต่อการแปรรูปของข้าว 84 สายพันธุ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 3.โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้นแบบจากน้ำหมักที่ได้จากข้าวก่ำสายพันธุ์ KKU URL 381 4.โครงการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากการเพาะเลี้ยงจมูกข้าว และ 5.โครงการประยุกต์ใช้สารออกฤทธิ์จากข้าวสีในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 

- ผลงานที่เป็นองค์ความรู้และนำไปใช้ในเชิงสาธารณะ จำนวน 44 โครงการ มีผลงานเด่นใน 3 ระดับ ได้แก่ 1.ต้นน้ำ เน้นการพัฒนาเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าวที่เหมาะสมและได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น 2.กลางน้ำ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพและห่วงโซ่การผลิตข้าวคุณภาพ 3.ปลายน้ำ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษจากจุดเด่นของข้าวไทยที่มีความหลากหลายกว่าประเทศคู่แข่งเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

                                          .........................................................     

 “งานวิจัยข้าว”ในมุมมองจากเกษตรกร

       สุกรรณ์ สังวรรณะ เกษตรกรดีเด่นแห่งหนองหญ้า จ.สุพรรณบุรี กล่าวถึงการนำผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ไร่นาในงานเสวนา"การวิจัยเพื่อการผลิตข้าวครบวงจร"โดยระบุว่าปัจจุบันเกษตรกรจะต้องมีการปรับตัวมากขึ้นเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีการผลิตจะทำในรูปแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะรูปแบบการทำเกษตรได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยมุ่งทำเกษตรผสมผสานแทนเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำแล้วไม่มีวันรวย แล้วก็เปลี่ยนจากอาชีพชาวนามาเป็นการทำนาแบบมืออาชีพ ที่ต้องมองบริบทแบบองค์รวม นำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เลิกคิดเลิกเชื่อในวิถีเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา ไม่อย่างนั้นจะอยู่ลำบาก 

        “จะทำอย่างไรให้งานวิจัยลงสู่นาสู่ไร่ มีพื้นที่ 15-20 ถ้าทำนาเชิงเดี่ยวต่อไป ชาติหน้าก็ไม่รวย เพราะค่าตอบแทนมันน้อยเหลือเกิน ยิ่งถ้าเป็นนานอกเขตชลประทานที่ต้องอาศัยน้ำฝนหรือน้ำบาดาลจะยิ่งลำบาก เพราะต้นทุนยิ่งสูง เพราะฉะนั้นเราจะต้องปรับคันนามาปลูกผัก ปลูกไม้ผล เราก็จะมีพืชรายได้รายวัน ส่วนข้าวก็จะเป็นพืชรายฤดูกาลและสิ่งที่เกษตรกรยุค4.0จะต้องมีก็คือต้องรู้ข้าวว่าใช้ข้าวพันธุ์อะไรที่เหมาะและตลาดต้องการ รู้นา มีพื้นที่มากน้อยแค่ไหน รู้ปัญหา เราเจอปัญหาอะไรบ้างและที่สำคัญเราต้องรู้ตัวเอง” สุกรรณ์ให้มุมมองทิ้งท้าย

       

    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ