ข่าว

แบนสารเคมี 3 ตัว! ทางออกภาคการเกษตรไทยจริงหรือ...?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

                   จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ระบุว่าปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ภาคเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ มีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 17 ล้านคน สามารถผลิตสินค้าเกษตรเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และยังสามารถทำรายได้จากการส่งออกถึงปีละ 1.22 ล้านล้านบาท  ในจำนวนนี้ มีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์(ไม่ใช้สารเคมี)เพียง 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ของพื้นทีทั้งหมดหรือ 148.7 ล้านไร่ที่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ด้วยเหตุนี้ทำให้ประเทศไทยจึงจำเป็นมีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อใช้ป้องกันความเสียหายของผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  

                     จะเห็นว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาสถิติการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช(โรค แมลง วัชพืช)ระหว่างปี 2520 – 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2520 ปริมาณนำเข้าทั้งหมด 6,811 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 154,568 ตัน ในปี 2559 หรือคิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 0.84 กิโลกรัมต่อไร่  หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซียก็ยังมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสูงมากเช่นกัน เฉลี่ยปีละ 4 และ 8 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ โดยสารพวกนี้ส่วนใหญ่จะใช้กับพืชไร่นาและพืชสวนเพื่อจำกัดวัชพืชที่เป็นปัญหาเป็นที่นิยมของเกษตรกรไทย เนื่องจากมีราคาไม่แพงนัก โดยเฉพาะพาราควอต 

                    แต่แล้วจู่ ๆ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการสารเคมีเกษตรไทย ได้ออกมาแถลงข่าว เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ตัวคือพาราควอต กับ คลอร์ไพริฟอส โดยให้จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้ไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธันวาคม 2562 

                  ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด  โดยมีแผนปฏิบัติการเพื่อลด ละ เลิก การใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสคือ 1. กำหนดเพดานปริมาณการนำเข้า อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี 2. ให้บริษัทรายงานปริมาณการนำเข้า ปริมาณการขายและปริมาณคงค้างแก่กรมวิชาการการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทุก 3 เดือน 3. บริษัทเรียกคืนผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาดให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2562 4. เฝ้าระวัง/สุ่มตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังการตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้า พาราควอตมากถึง 128 บริษัท และคลอไพริฟอส ถึง 81 บริษัท

                 “พาราควอต”คนทั่วไปมักรู้จักกันในชื่อการค้า กรัมม็อกโซน”เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษเฉียบพลันสูง และไม่มียาถอนพิษ ส่วน"ไกลโฟเสต“หรือที่รู้จักกันว่า”ราวอัพ“ ทั้งสองชนิดนี้เป็นสารกำจัดวัชพืช ในขณะที่”คลอร์ไพริฟอส"กำจัดแมลงศัตรูพืช ที่เน้นเฉพาะพาราควอต เพราะเกษตรกรนิยมใช้กันมากเป็นอันดับ 2 รองจากไกลโฟเสท ซ้ำโทษครั้งนี้ร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต เกษตรกรที่ไหนในโลก ไม่ว่าในประเทศพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ล้วนต้องพึ่งพาสารเคมีเกษตรทั้งสิ้น มากหรือน้อยสุดแท้แต่ เหตุเพราะพืชที่ปลูกต้องเผชิญปัญหาศัตรูทั้งโรค แมลง และวัชพืช นอกเหนือจากลมฟ้าอากาศหรือภัยธรรมชาติอื่นไม่เป็นใจด้วย

                 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตร 1.22 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เกินกว่า 90% มาจากสินค้าเกษตรที่ใช้เคมีแทบทั้งสิ้น เกษตรอินทรีย์ที่ขยันเชียร์นั้น น้อยทั้งปริมาณและมูลค่าแบบไม่มีนัยสำคัญต่อประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยเลย  แทนที่จะให้การศึกษาให้ความรู้เกษตรกร คนฉีดพ่นยา ผู้บริโภค รวมทั้งเข้มงวดการนำเข้าสารเคมีเกษตรไม่ได้คุณภาพ ควบคุมการผลิต การผสม การจำหน่ายผ่านร้านค้า  ตลอดจนการใช้สารเคมีเกษตรที่ถูกต้อง โดยผู้ใช้จริง ๆ จะต้องมีผ่านการอบรม ต้องมีใบประกาศนียบัตร แต่บ้านเรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญตรงจุดนี้ 

               ไม่ปฏิเสธว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ตัวเป็นสารเคมีอันตราย แต่ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้ถูกวิธีก็มีประโยชน์ แต่หากใช้ผิดก็มีโทษมหันต์ สิ่งสำคัญเกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้ในการกำจัดวัชพืช เมื่อมีการคิดจะล้มเกษตรเคมี โดยใช้แล้วไปมุ่งฝันหวานเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว มันก็คล้ายๆมาตรการห้ามนั่งกระบะรถเพื่อความปลอดภัยที่ต้องหมางเมินกับเกษตรกรจำนวนมาก และอาจลงเอยด้วยการเปลี่ยนแปลงคำสั่งอีกครา

                 การจะห้ามใช้สารเคมีเกษตรตัวหนึ่งตัวใดหรือหลายตัว ไม่มีใครว่า แต่ควรอยู่ในกรอบของความถูกต้องชอบธรรม ไม่มั่ว ไม่เอาสีข้างเข้าถู ไม่เลือกข้าง ไม่อคติ หากด้วยบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และคำนึงถึงบริบทของเกษตรกรผู้ใช้ด้วย  การที่ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกคำสั่งนี้ ถือเป็นเรื่องตลกไร้สาระมาก อย่าลืมว่ากระทรวงนี้ดูแลสุขภาพคน รู้เรื่องยากับคน  แต่เมื่อเป็นพืชกับคน หน่วยงานที่รู้ดีที่สุดคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรที่เป็นหน้าที่โดยตรง   ประเด็นต่อมาในโครงสร้างคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีเกษตรฯนั้น ประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ แต่ไม่ยักจะมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรแม้แต่คนเดียว ที่น่ากังขาคือมีเอ็นจีโอ ทั้งจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช( Thai-PAN) ร่วมด้วย เรียกได้ว่าคนห้ามไม่ใด้ใช้ คนใช้ไม่ได้ห้าม

                  นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน นางอมรรัตน์ ลีนะนิธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี เป็นกรรมการและเลขานุการ ศูนย์นี้ตั้งเมื่อปี 2551 อยู่ในกองแผนงานและวิชาการของอย.  มีเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 5 คน และที่น่าสนใจยังปรากฎชื่อน.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-Pan กลุ่มเอ็นจีโอที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสารเคมีเกษตรมาโดยตลอด 

                 ไม่นับกรรมการบางคนมีสายสัมพันธ์กับเอ็นจีโอ ทั้งออกหน้าออกตาและเงียบ ๆ  สะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้ มีเอ็นจีโอชักใยอยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจนที่สุด แล้วถามว่า บทบาทของกรมวิชาการเกษตรที่สมควรเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ และเคยเป็นมาตลอดเป็นอย่างไร นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พอมีสติปัญญาทำได้ดีที่สุด คือส่งนายศรัณย์ วัธนธาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เป็นตัวแทนอธิบดีไปร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงในวันนั้น ส่งไปเพื่อจะบอกว่า กรมวิชาการเกษตร ยินดีแบน(Ban)สารสองตัวนี้ทั้งพาราควอตและไกลโฟเสท ส่วนจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่นใดประกอบการตัดสินใจครั้งนี้ไม่มีใครทราบ  ทราบแต่เพียงว่า ในทางปฏิบัติหากจะห้ามหรือยกเลิกสารเคมีเกษตรตัวใดก็ต้องมีคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบและประเมินในทางวิทยาศาสตร์ก่อน 

                   และที่ยอมยกเลิกพาราควอต เป็นเพราะถูกใครบางคนบางกลุ่มกดดัน แล้วใครจะพึ่งกรมวิชาการเกษตรได้อีกหรือ เมื่อยอมศิโรราบเอ็นจีโอ ชนิดที่ไม่มีอธิบดีคนไหนทำมาเลยในประวัติศาสตร์ของกรมนี้ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงยกเลิกการใช้สารพาราควอต ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเมื่อวัน 24 มีนาคม 2560 แหล่งข่าวในกรมวิชาการเกษตรระบุว่าวันนั้นมีการประชุมลับที่ห้องอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มีผู้ร่วมประชุมทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษต น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพิศาล พงศาพิชญ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี(BioThai) เครือข่ายเดียวกับเครือข่ายเฝ้าระวังสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช(Thai PAN) ถือเป็นทฤษฎีสมคบคิดสู่แผน“ลับลวงพราง"สารเคมีเกษตรที่น่าจับตายิ่ง                                                           

“วิทูรย์” ชี้สารเคมีเกษตรมีผลต่อสุขภาพคนไทย

                  วิทูรย์ เลี่ยมจำรุญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(Bio Thai)กล่าวในเวทีเสวนา “การเกษตรไทย... ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ?”จัดโดยสมาคมวิทยาการวัชพืชไทยถึงผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพคนไทยว่าปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น เนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นปัญหาใหญ่และรุนแรงมากของสังคมไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมไทยยังขาดความตระหนักร่วมกันอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยปัญหาด้านสุขภาพสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือผลกระทบที่เป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการในทันทีหลังจากสัมผัสสารเคมี เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่า เป็นต้น และผลกระทบที่เป็นพิษเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพิษสะสมที่ก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาอื่นๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังต่างๆ การเป็นหมัน การพิการของทารกแรกเกิด หรือการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

                  อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของระบบข้อมูล ทำให้ตัวเลขสถิติของจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้นทุกปีในขณะที่รายงานจากฐานข้อมูลผู้ป่วยจากระบบประกันสุขภาพ พบว่ามีผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีจำนวนสูงกว่าถึง 4 เท่าตัว กล่าวคือสูงถึง 8,546 คนต่อปี อย่างไรก็ตาม สถิติเหล่านี้เป็นเพียงการรายงานอุบัติการณ์ของผู้ป่วยจากพิษเฉียบพลันซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สารเคมี แต่ยังไม่รวมผู้ป่วยที่อาจไม่ได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลหรือผู้ป่วยจากพิษสะสมเรื้อรัง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยแท้จริงแล้วอาจสูงถึง 200,000 – 400,000 คนต่อปี

"พาราควอต" ในมุมมองเกษตรกรดีเด่น 

        สุกรรณ สังข์วรรณะ เกษตรกรชาวไร่อ้อยในต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 

      “จะแบนอะไรก็ไม่ว่า ขอให้มีรข้อมูลให้มันรอบด้าน ต้องมีคำตอบให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไอ้พวกที่มีส่วนได้คงไม่พูดอะไร แต่ต้องแสดงความจริงต่อส่วนรวมและตอบผู้ที่มีส่วนเสียให้เคลียร์ เกษตรกรเป้นผู้ที่ถูกกระทบมากที่สุด ต้องทำอะไรที่ตรงไปตรงมา พาราควอตเสียตลาด แต่ฝ่ายจะได้ตลาดนั้นต้องไปถามคนขอ(NGO)ให้แบนพาราควอตแล้วบอกว่าให้ใช้สารตัวนั้นผสมตัวนี้แสดงว่ามีส่วนได้เสียกับบริษัทนั้น ๆ และการบวกสารเคมีสองชนิดขึ้นไปเป็นการผิดหลักการ เพราะไม่มีผลงานวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพและการเกิดพิษ งานนี้กรมวิชาการเกษตรจะต้องรับผิดชอบต่อข้อแนะนำของไทยแพน(ThaiPan) เพราะเขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์จะมาแนะนำส่งเดชไม่ได้” 

“พาราควอต”มุมมองนักวิชาการเกษตรด้านวัชพืช

         ‘ศ.ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา’ อดีตอาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดถึงสารพาราควอตไว้ในวารสารสมาคมวิทยาการวัชพืชไทย

          “พาราควอตปัญหาไม่ได้อยู่ที่พิษของมันนะครับ เพราะว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่คนใช้จะเป็นผู้ควบคุม ถ้าควบคุมมันได้ก็ไม่เป็นพิษ ต้องควบคุมผู้ใช้ มีการอบรมหรือสอบให้ใบประกาศนียบัตร หากทำผิดก็ยกเลิกห้ามผู้ใช้รายนั้นก็น่าจะช่วยให้ผู้ใช้ เกษตรกร ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบ ถ้าปฎิบัติถูกต้องตามคำแนะนำ ถ้ามีการแบนสารกำจัดวัชพืชชนิดใดชนิดหนึ่งคือสารที่มีอยู่มีกลไก การทำงายพืชต่างกันนะครับ พาราควอตมีกลไกการทำลายอย่างหนึ่ง ไกลโพเสทอย่างหนึ่ง กลูโฟซิเนตก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าแบนตัวใดตัวหนึ่งแล้วอะไรจะเกิดขึ้นครับ แน่นอนเกษตรกรได้รับผลกระทบ เพราะว่าที่เหลือจะราคาสุงขึ้นหรือถ้าใช้ตัวหนึ่งตัวใดนาน ๆ ก็จะมีวัชพืชต้านทานสารเกิดขึ้น เมื่อวัชพืชต้านสาร เราก้จะไม่มีอะไรมาฉีดอีกแล้ว เพระาว่าเราแบนไปแล้วนี่ครับ”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ