ข่าว

ก.เกษตรฯ เน้นมาตรการมีส่วนร่วมของชุมชนกำจัดหนอนหัวดำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก.เกษตรฯ เน้นมาตรการมีส่วนร่วมของชุมชนกำจัดหนอนหัวดำ

            กระทรวงเกษตรฯ เน้นมาตรการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นในการกำจัดหนอนหัวดำ พร้อมตรวจเข้ม/เผาทำลายมะพร้าวลักลอบนำเข้า ป้องกันไม่ให้มีศัตรูพืชกักกันเข้ามาแพร่ระบาดซ้ำ

   พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ อย่างเร่งด่วน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ได้แก่ รัฐ ท้องถิ่นและชุมชน มีกลยุทธ์การดำเนินงานที่กำหนดไว้ ทั้งใน ระดับจังหวัด โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วนและแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีคณะทำงานประกอบด้วย หน่วยงานที่เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มีท้องถิ่นจังหวัดประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.,เทศบาล,อบต.) ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทน ศพก. และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่จังหวัดเห็นสมควร มี เกษตรจังหวัด เป็นเลขานุการ และระดับชุมชน ใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและอาสาสมัครเกษตร (อกม.) เป็นกลไกขับเคลื่อน

             นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า  คณะกรรมการฯระดับจังหวัด มีหน้าที่หลัก คือ 1) วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน 2) บริหารจัดการโครงการให้เกิดประสิทธิภาพ เร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จ เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว มีความถูกต้องโปร่งใส รวมทั้งรับฟังและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานต่าง ๆ 3) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับมาตรการโครงการ 4) กำหนดมาตรการทางการปกครอง แก้ไขปัญหาในพื้นที่ และ 5) สนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด สำหรับคณะกรรมการฯระดับชุมชน มีหน้าที่ ติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืช สำรวจพื้นที่ระบาด และร่วมกันผลิตแตนเบียนบราคอนนำไปปล่อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยเฉลี่ยแต่ละศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จะรับผิดชอบพื้นที่ระบาด 800 – 1,000 ไร่ และนำแตนเบียนไปปล่อยทุก 15 วัน เป็นเวลา  8 เดือน รวมจำนวน 16 ครั้ง หลังจากฉีดสารเคมีข้าลำต้น และพ่นทางใบผ่านไปแล้ว 15 วัน และขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.,เทศบาล,อบต.)  ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่จำเป็นด้วย อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในที่สุด

            ด้าน นายสุวิทย์  ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ด่านตรวจพืชท่าเรือสงขลา  กรมวิชาการเกษตร ได้รับการประสานงานจากด่านศุลกากรสงขลา เพื่อรับมอบของกลาง มะพร้าวลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศโดยไม่ผ่านการตรวจจากศุลกากรจำนวน 13,000 ลูก คิดเป็นมูลค่า  3,900,000 บาท เนื่องจากมะพร้าวเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2551 ซึ่งการนำเข้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศกรมวิชาการเกษตร  สำหรับการตรวจการนำเข้ามะพร้าวเมื่อถูกขนส่งมาถึงด่านนำเข้าในประเทศไทย ลำดับแรกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมากับสินค้า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างมะพร้าวว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ หากตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักมะพร้าวไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ แต่หากตรวจพบศัตรูพืชที่เป็นศัตรูพืชกักกันของไทยจะส่งสินค้ากลับ ทำลาย  หรือกำจัดศัตรูพืชบนมะพร้าวโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลายดังกล่าว และกรมวิชาการเกษตรจะแจ้งให้ประเทศผู้ส่งออกทราบถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วย หากยังพบไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอาจระงับการนำเข้ามะพร้าวของประทศนั้นๆ ได้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว.

                                 ............................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ