ข่าว

กล้วยไม้ในใจคน ตอน2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -ศ.ระพี สาคริก

ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว

              ถ้าการจัดการศึกษาเป็นแบบนี้ เราก็บอกได้เลยว่าอนาคตของสังคมจะต้องพังแน่ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ฉันไปที่เกษตรศาสตร์มีคนมาขอสัมภาษณ์ว่าให้ช่วยดูบัณฑิตว่าจะมีคุณภาพขนาดไหน ฉันตอบกลับไปว่าตัวเองไม่สนใจจะดูบัณฑิต แต่จะขอดูครูบาอาจารย์รวมทั้งผู้บริหาร ถ้าต้นแบบเป็นอย่างไร ลูกหลานก็ย่อมเป็นอย่างนั้น

             เวลานี้มีบุคคลผู้หนึ่งเขามาหาฉันบอกว่าท่านสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับกล้วยไม้ แต่ไม่ใช่การเพาะปลูกกล้วยไม้ แต่เป็นเรื่องราวของการใช้ชีวิตต่อสู้กับสังคม จนทำให้กล้วยไม้ต้นเดียวเป็นผลงานระดับโลก คนลักษณะนี้หายากสำหรับสังคมปัจจุบัน แสดงว่าในอนาคตสังคมคงจะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็ถึงจุดจบ ถ้าเราขาดจิตใต้สำนึกที่หยั่งรากลงลึกถึงสากลจักรวาล

         ในขณะที่ฉันได้เรียบเรียงหนังสือสถิติเล่มใหม่ในครั้งกระโน้น บางคนตกใจถึงกับกล่าวว่า “นึกว่าอาจารย์ระพีทำแต่กล้วยไม้” คนแบบนี้คิดอะไรก็คิดได้แต่เพียงผิวเผิน หารู้ไม่ว่าฉันเป็นคนหนึ่งที่นำวิชาสถิติมาเริ่มต้นใช้งานในเมืองไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495

         หลายคนเมื่อพูดถึงวิชาสถิติก็มักบ่นว่ายาก ก็แน่ละซิ ถ้ามองเห็นวิชานี้แต่เพียงว่ามันเป็นคณิตศาสตร์ หารู้ไม่ว่าวิชาสถิตินั้นมีรากเหง้าเป็นปรัชญาธรรมะ ถ้าใครเข้าถึงประเด็นนี้ได้ วิชาสถิติมันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ถ้าแต่ละคนสามารถมองเห็นความจริงที่อยู่ในใจตนเองได้ก็ย่อมเข้าถึงความจริงของวิชานี้ได้เช่นกัน แต่โบราณมักพูดกันว่า “มนุษย์ขี้เหม็น เคี่ยวเข็ญเทวดา” ใครเคยได้ยินเรื่องนี้หรือเปล่าว่าคนแต่ก่อนเขาพูดกันเป็นว่าเล่น

          ฉันอายุ 90 ปีกว่าแล้ว แต่สิ่งที่เคยได้ยินมาตั้งแต่อายุเพียง 2-3 ขวบนั้น ฉันยังจำได้แทบจะหมดว่าใครทำอะไรเอาไว้ในอดีตทั้งที่ดีและที่ขัดต่อเหตุและผล ดังเช่นที่เคยเขียนเรื่องราวของคลองลัดหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปประทับที่นั่นรวมทั้งมีพระราชประสงค์ให้สร้างคลองนี้ขึ้นเพื่อตัดลำน้ำเจ้าพระยาจนกระทั่งเรือต้องแล่นอ้อมเป็นเวลานานร่วม 10 ชั่วโมง ทั้งนี้ก็เพื่อมีพรราชประสงค์ให้เรือรบขนาดกลางแล่นผ่านได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

         ทั้งนี้เพราะถ้ามีข้าศึกศัตรูมาทางเรือ จะได้แล่นออกไปป้องกันได้ทันการ สะพานหมุนที่สร้างเอาไว้เป็นช่วง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านเดินข้าม เวลาเรือผ่านชาวบ้านจะหมุนให้เรือผ่านไปได้ และคนในเรือก็จะโยนเงินให้ชาวบ้าน สะพานหมุนเหล่านี้มีไม่น้อยกว่า 5 แห่งภายมในคลองลัดหลวง

            แต่น่าเสียดายที่มาถึงในช่วงนี้รื้อทิ้งไปหมดแล้วแทนที่จะเก็บเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่อให้ชนรุ่นหลังเก็บเอาไว้เรียนอดีตของประเทศชาติตัวเอง เพื่อจะได้ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป!

                                *******************************************************************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ