ข่าว

หนุนปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทดแทนนาปรัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

            สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ผลการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายฤดูนาปรัง ปี2560เกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า38,700ราย พื้นที่กว่า185,900ไร่ ในพื้นที่20จังหวัดเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา แจง ภาครัฐต้องเน้นย้ำการเตรียมการให้ความรู้ และข้อมูลการผลิตการตลาดแก่เกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยในการตัดสินใจก่อนปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบการผลิตที่ไม่คุ้นเคยแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

             นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายฤดูนาปรัง ปี2560ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน เพื่อลดรอบการทำนาปรังและสร้างรายได้จากการปลูกพืชอื่นทดแทนในพื้นที่จังหวัดเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยการแนะนำให้ชาวนาปลูกพืชทางเลือกอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และพืชผักต่างๆ ทดแทนการทำนาปรังในช่วงเดือนพฤศจิกายน2559ถึงเมษายน2560โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ไร่ละ2,000บาท ครัวเรือนละไม่เกิน5ไร่

           โครงการดังกล่าวเริ่มเมื่อเดือนกันยายน2559จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรที่สนใจและได้ยืนยันการปลูกแล้วกว่า38,700ราย คิดเป็นพื้นที่กว่า185,900ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่20จังหวัด เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจังหวัดที่มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวนมาก ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท เป็นต้น

                จากการลงพื้นที่ของ สศก.เพื่อสำรวจข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน2560ในพื้นที่ตัวอย่าง13จังหวัด พบว่า เกษตรกรสามารถทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้แล้ว โดยเฉพาะที่มีการเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม2559ในเบื้องต้นมีความพอใจกับรายได้ที่ได้รับ และเห็นว่าปัญหาภัยแล้งในช่วง2ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตระหนักและสนใจที่จะหันมาปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนา เพราะนอกจากช่วยให้มีรายได้เสริมแล้ว ยังช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้นด้วยจากการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งในส่วนของค่าใช้จ่ายที่โครงการจะสนับสนุนนั้น เกษตรกรจะนำมาเป็นเงินลงทุนเพื่อการทำการเกษตรในฤดูฝนที่จะถึงนี้เป็นหลัก

            อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะบูรณาการร่วมกันในการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพแบบต่อเนื่อง ทั้งด้านเตรียมการให้ความรู้ และข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดก่อนการตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบการผลิตใหม่เพื่อลดปริมาณข้าวในช่วงแล้ง และสร้างรายได้ทางเลือกอื่นให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

                                                ........................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ