ข่าว

เกษตรฯมอบ “เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์” ให้เกษตรกรสีเขียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

                  พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในการเลือกบริโภคสินค้าที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้เทคโนโลยีที่สะอาด อีกทั้งตลาดในต่างประเทศเริ่มมีการตั้งมาตรฐานในด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ เครื่องหมายลดโลกร้อนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าตัวผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงโดยจะใช้กระบวนการผลิตเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้

                  นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมประมงได้จัดโครงการเมืองเกษตรสีเขียวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากิจกรรมด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตสินค้าจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมประมง โดยมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งภายใต้โครงการเมืองเกษตรสีเขียวได้มีการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและจัดส่งเจ้าหน้าที่กรมประมงในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์มาวิเคราะห์ค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตสินค้าประมง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในผลิตภัณฑ์ให้ลดน้อยลง อีกทั้งได้มีการจัดฝึกอบรมเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาความรู้และเพิ่มศักยภาพให้สามารถผลิตสินค้าที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปี พ.ศ. 2559 กรมประมงได้คัดเลือกจังหวัดนำร่องในการจัดโครงการเมืองเกษตรสีเขียวจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดพัทลุง โดยในปีนี้มีผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลาส้มจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกองนาง จังหวัดหนองคาย และผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแช่แข็งจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโพหักรุ่งเจริญ จังหวัดราชบุรี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าว เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้พร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่มีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

                   นายสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมากองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดได้มีการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเมืองเกษตรสีเขียว จำนวน 1,250 ราย โดยเกษตรกรจะได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนของการผลิตสินค้าประมง โดยขั้นตอนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมประมงในการตรวจประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะตรวจกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง กระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการซากของผลิตภัณฑ์ อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการบรรทุกอาหาร การให้อาหารสัตว์น้ำ และกระบวนการผลิตสินค้าประมงอย่างละเอียด และมีการดำเนินกิจกรรมผลิตภัณฑ์นำร่องเกษตรสีเขียวขึ้น ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปที่มีคุณสมบัติและมีความพร้อมเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ในการตรวจประเมินของเจ้าหน้าที่พบว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกรมประมงมีรายละเอียดของปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้

              1.) ผลิตภัณฑ์ปลาส้ม จากกลุ่มแม่บ้านกองนาง จังหวัดหนองคาย ผลิตภัณฑ์ปลาส้ม 1 ห่อ ปริมาณ 90 ก. ปล่อยก๊าซเรือน 839 gCO2e โดยขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในขั้นตอนการจัดการซาก กล่าวคือ มีการใช้ใบตองในการห่อบรรจุภัณฑ์มากถึง 99% กรมประมงจึงได้ให้แนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการใช้ใบตองให้น้อยลงที่สุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหลังจากเกษตรกรได้ปฏิบัติตามคำแนะนำทำให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าเดิมถึง 53%

             2.) ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแช่แข็ง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโพหักรุ่งเจริญ จังหวัดราชบุรี ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแช่แข็ง 1 ถุง ปริมาณ 1 กก. ปล่อยก๊าซเรือน 7.07 KgCO2e โดยขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ กระบวนการเพาะเลี้ยงปลาสลิด มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 99% กรมประมงได้แนะนำแนวทางให้กลุ่มเกษตรกรลดปริมาณการให้อาหารให้เหมาะสมกับขนาดปลาในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งหลังจากที่เกษตรกรได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ พบว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกลดลงไปได้ถึง 16% ดังนั้น ถ้าเกษตรกรสามารถลดการให้อาหารปลาได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้

               อย่างไรก็ตาม ในภาวะโลกร้อนแบบนี้ ผู้บริโภคสินค้าทุกชนิดทั่วโลกคงไม่อาจหลีกเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ สำหรับการหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จะเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภคที่จะได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนลงได้.

                                                                                    ..........................................

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ