ข่าว

ยลโครงการ“เกษตรก่อนเกษียณ"พันธรัตน์ รัตนพันธ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย สุรัตน์ อัตตะ

              ไม่ใช่แค่เกษตรบนแผ่นกระดาษ หากต้องลงมือทำนำภาคทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีหลากหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง แต่หากการปรับวิธีคิดมองมุมบวกในภาคเกษตร ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เฉกเช่นอดีตคนข่าวที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนมาเกือบ 3 ทศวรรษ อย่าง “พันธรัตน์ รัตนพันธ์” หรือที่แวดวงคนข่าวรู้จักดี ที่วันนี้ก้าวมาสวมหมวกเกษตรกรอย่างเต็มตัว ด้วยการพลิกพื้นที่กว่า 7 ไร่ ที่บ้านเกิดใน ต.พังลา อ.สะเดา จ.สงขลา ทำสวนเกษตรผสมผสาน หรือสวนสมรม หวังยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวในบั้นปลายของชีวิต

ยลโครงการ“เกษตรก่อนเกษียณ"พันธรัตน์ รัตนพันธ์"

              “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ ล่องใต้พาไปชมสวนเกษตรผสมผสานของ "พันธรัตน์ รัตนพันธ์” เกษตรกรหน้าใหม่แห่งบ้านม่วงก็อง หมู่ 7 ต. พังลา อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ผันตัวเองมาสวมหมวกเกษตรกรเต็มขั้น หลังจากหันหลังให้แก่อาชีพสื่อสารมวลชน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากนั้นหันรุกคืบเดินตามศาสตร์พระราชา ทำเกษตรพอเพียง เนื่องจากมีการวางแผนชีวิตว่าจะย่ำเท้าตามรอยนี้มานานพอสมควร โดยในชีวิตประจำวันของเขา หลังเสร็จภารกิจจากงานประจำบางส่วนก็จะลงมาคลุกอยู่ในสวนเป็นส่วนใหญ่ 

              "งานเกษตรไม่ใช่งานที่ทำแล้วรวย แต่ทำแล้วทำให้เรามีความสุขมากกว่า หนึ่งในสุขนั้นก็คือ สุขต่อสุขภาพ เพราะเราปลูกเอง กินเอง ขายเอง จึงปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่เคยมีความรู้ต่อการทำเกษตรมาก่อน ค่อนชีวิตคลุกคลีกับข่าวเช้าจรดค่ำ แต่โลกยุคนี้เรียนรู้ได้ทันกันหมด ในวันที่วัยเกือบ 50 ปี ก็คิดว่าถึงเวลากลับมาพัฒนาบ้านเกิดเราบ้างแล้ว ผมไม่เคยมีแรงบันดาลใจใดๆ แต่ใช้ใจบันดาลแรง” พันธรัตน์เล่าถึงเป้าหมายชีวิตขณะพาชมสวน

ยลโครงการ“เกษตรก่อนเกษียณ"พันธรัตน์ รัตนพันธ์"

            เขาเล่าต่อว่า ช่วงเวลาแรกเริ่มของการพัฒนาได้ปรับพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ใช้งานได้ มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมกับคำนวณต้นทุนการผลิตทุกอย่าง จากนั้นมีการจัดโซนตามชนิดของพืช  โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกกล้วยหอมทอง เนื่องจากมองว่ากล้วยหอมเป็นพืชที่ปลูกง่ายโตเร็ว และตลาดมีความต้องการสูงมาก  ช่วงแรกได้ปรึกษากับสมโภช รัตนพันธ์ พี่ชาย จนกระทั่งความคิดเริ่มตกผลึก จึงลงมือปฏิบัติการในทันที  กระทั่งวันนี้กล้วยหอมทองที่ปลูกไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว เริ่มผลิดอกออกผลผลิตให้ชื่นใจตามกำหนด แต่สิ่งสำคัญต้องดูแลให้น้ำ ใส่ปุ๋ยคอกสม่ำเสมอ เมื่อถามว่าตลาดอยู่ที่ไหนอย่างไร เนื่องเพราะมีการปลูกกล้วยหอมทองกันมากขึ้น พันธรัตน์แจงว่า ขณะนี้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน เป็นต้น ดังนั้นจึงวางใจในแง่การตลาด โดยมีสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยงและพร้อมรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง

                “หน่อกล้วยก็เป็นที่ต้องการตลาด จนบางช่วงรองรับตลาดแทบไม่ทัน โดยขายในราคาหน่อละ 15-20 บาท น่าสนใจว่าตอนนี้พื้นที่แถวบ้านเกือบทั้งหมดละลานตาไปด้วยกล้วยหอมทอง ก็ยิ่งเป็นโอกาสดีที่เราจะขยายผลสู่พืชอื่นๆ ได้ จึงตัดสินใจปลูกพืชที่ชอบความเย็น ชอบแสงแดดรำไร ดังนั้นทั้งสวนจึงมีโซนผักหวานราว 500 ต้น ขณะที่อีกโซนก็กลายเป็นพืชประเภทพริกป่า ที่พื้นเมืองปักษ์ใต้เรียกว่า ดีปลีขี้นก อีกประมาณ 500 ต้น คุณสมบัติพิเศษ “เล็กพริกขี้หนู” เผ็ดจัดจ้าน แซบหลาย มีกลิ่นหอมในตัวด้วย แถมมีอายุยืน 4-5 ปี”

                พันธรัตน์เผยต่อว่า ปกติดีปลีขี้นกหรือพริกประเภทนี้ไม่ค่อยมีคนปลูกเพื่อการพาณิชย์ แต่มักจะงอกเติบโตตามป่าเขาที่มีความเย็น แต่เมื่อเรานำมาปลูกใต้ร่มเงากล้วยก็ถือว่าผ่านฉลุย ปัจจุบันราคาขายส่ง กก.ละ 200 บาท บางช่วงก็ให้ผลผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของตลาด เมื่อมองไปอีกโซนก็พบว่ามีการนำมะเขือป่า หรือมะเขือพวง มาปลูกเป็นทิวแถว โดยพบว่าพืชชนิดนี้ก็มีราคาดี สามารถบังคับให้ออกผลได้ต่อเนื่อง ปัจจุบันแม่ค้ารับซื้อไม่เพียงพอความต้องการ ในราคา กก.ละ 20 บาท 

                “ผมคิดเสมอว่า หากทำอะไรอย่าทำเหมือนคนอื่น ต้องคิดต่าง ฉีกกฎนิดชีวิตเปลี่ยน อย่างการปลูกดีปลีขี้นกเพราะคนทั่วไปไม่ปลูก ราคาจึงดีมาก มะเขือพวงก็ไม่ปลูกกันมากนัก ทั้งที่ต้นพันธุ์อายุยืนมาก ช่วงไหนที่ราคาตก ผมก็ใช้วิธีนำมะเขือพันธุ์อื่นๆ มาเสียบยอด ก็จะได้ต้นมะเขือที่มีฐานแข็งแรงมาก” เกษตรกรหน้าใหม่เผยเคล็ดลับการตลาด

                 ยิ่งเมื่อมองภาพรวมในสวนเกษตรพอเพียงแห่งนี้ ยังพบว่ามีการปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือนเกือบทุกชนิด ทั้งผักบุ้ง คะน้า ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพาแบบเต็มพื้นที่ ที่สำคัญทั้งระบบ “ปลอดเคมี” ทุกวันนี้ในครอบครัวไม่เคยกินพืชผักจากตลาด ในสวนของเขามีพร้อมสรรพ กินแล้วอุ่นใจ เพราะใช้ระบบน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตเอง ก่อนต่อท่อเข้าระบบสปริงเกลอร์  เมื่อเหลียวไปอีกมุมก็ยังพบว่ามีการปลูกมะนาวในวงบ่อไว้อีกกว่า 60 บ่อ อีกด้านซึ่งเป็นสวนลองกองอีก 3 ไร่ ที่อยู่ละแวกเดียวกันก็ยังพบผักเหลียง ราชินีแห่งผักพื้นบ้านปักษ์ใต้อีก 120 ต้น 

                 “ดงผักหวาน ลานดีปลี(ขี้นก) มีผักเหลียง เคียงคู่มะนาว อีกก้าวกล้วยหอมทอง” นี่คือสโลแกนที่เกษตรกรมือใหม่หัวใจสีเขียวได้ว่าไว้

                ช่วงท้ายการชมสวนในวันนั้น พันธรัตน์ยังวางแผนอนาคตของสวนแห่งนี้โดยเตรียมพื้นที่เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรประจำชุมชนและยินดีแบ่งปันความรู้แก่บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจจะผันตัวเองไปสู่ภาคเกษตรในยามเกษียณอายุ สามารถมาศึกษา เรียนรู้ ดูงานได้อย่างเป็นมรรคผล ภายใต้โครงการ “เกษตรก่อนเกษียณ”  สนใจลองย่องเข้ามาสัมผัสกันดู โทร.08-9829-9472 เจ้าของสวนยินดีต้อนรับตลอดเวลา

                  “เกษตรไม่ใช่เรื่องยาก วันนี้ไม่ใช่ทำแบบเก่า แต่เราต้องปรับวิธีคิด สร้างเครือข่าย ลงแรงน้อยลง แต่ดูเหมือนคุณภาพและปริมาณสูงขึ้น เราต้องพากันก้าวไปสู่เกษตรใส่สูทยุค 4.0 ให้ได้” พันธรัตน์ทิ้งท้ายช่วงพาชมสวนในวันฝนตั้งเค้าเมฆทะมึน​

..........................................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ