ข่าว

ผลสำเร็จปลูกถั่วลิสงเกษตรแปลงใหญ่แทนนาปรัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

 

                ราคาข้าวที่ไม่เย้ายวนใจ ทำนาแล้วอาจขาดทุนได้ เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงหันไปมองพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น ยิ่งในบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำสำหรับนาปรังก็ยิ่งทำให้ต้องขวนขวายหาทางออกมากขึ้น แทนการทำนา อย่างเดียวที่มองไม่เห็นฝั่งของรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัว

            “ผมอยากทำถั่วลิสงแปลงใหญ่ทั้ง 1,250 ไร่เลย นาปรังไม่ทำแล้ว ทำเฉพาะนาปีอย่างเดียว”
            นายณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เปิดใจพูดถึงแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ ซึ่งเดิมทีเกษตรกรทำนา ทั้งนาปีและนาปรัง ในพื้นที่จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

            ถึงแม้น้ำจะดี แต่เมื่อทำนาปรัง รายได้เฉลี่ยแล้วก็ไม่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับทุนและแรงที่ลงไป ทั้งในฐานะนายก อบต. ควบคู่ไปกับฐานะเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งด้วย  ทำให้เขาต้องคิดหาทางช่วยเหลือตนเอง
และเกษตรกรในพื้นที่ และสบโอกาสเมื่อมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐที่นำเอาหน่วยงาน 3 ประสานเข้าร่วม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร

            “คุณสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน พาคณะของผม
ไปดูงานที่ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ได้มีโอกาสคุยกับตัวแทนของบริษัทโรงงานแม่รวย ซึ่งผลิตถั่วลิสงสำเร็จรูปในชื่อโก๋แก่ ผมก็ตัดสินใจทันทีว่า จะทำ” นายณัฐกิตติ์เล่า

            โก๋แก่เองก็ไม่รอช้า เข้าพื้นที่จัดรูปที่ดิน ต.โพ อ.เมืองศรีสะเกษ ทันทีเช่นกันเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559  นอกจากอธิบายรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังรับสมัครในวันนั้นเลย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตในฤดูแล้ง

            “มันฉุกละหุกมาก เกษตรกรบางคนยังลังเลใจ แต่ผมประกาศว่า ใครไม่เข้าโครงการไม่เป็นไร นายก อบต. จะเข้าไปก่อน เกษตรกรรายอื่นเลยเฮตามกัน  จากไม่กี่ไร่ก็เป็น 170 ไร่ ถือว่ามากแล้วกับการตัดสินใจอย่างรีบด่วน เพราะเข้าช่วงทำนาปรังกันแล้ว”

            เกษตรกรที่เอาด้วยกับโก๋แก่เริ่มปลูกถั่วลิสง ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2560 ไม่ถึง 1 เดือนดีด้วยซ้ำ
กับที่โก๋แก่เข้ามารับสมัครสมาชิก

            อย่างไรก็ตาม โก๋แก่ก็สร้างจุดขายที่น่าสนใจอยู่หลายประการ อย่างน้อยที่สุด ต้นทุนการผลิต
ที่คำนวณไว้ไร่ละ 3,850 บาท ซึ่งรวมเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ยิปซั่มรองพื้นนั้น ไปหักลบเอา
เมื่อซื้อขายผลผลิต เปรียบไปก็เหมือนการให้เดรดิตสินเชื่อ โดยโก๋แก่กำหนดราคารับซื้อไว้ที่กิโลกรัมละ
30 บาท และมีที่ปรึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับกระบวนการปลูกถั่วลิสง ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ปลูกแต่เป็นลักษณะไม่จริงจังนัก และทำไปตามสภาพไม่มีวิชาการกำกับแต่อย่างใด

            ในพื้นที่ 170 ไร่นั้น มีทั้งพื้นที่จัดรูปที่ดินและพื้นที่นอกเขตจัดรูปที่อยู่บนที่ดอน

            “แต่ในปีหน้า ผมคิดว่าเราต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำถั่วลิสงก็ต้องตัดนาปรังไปเลย ทำแต่นาปีอย่างเดียว” นายก อบต. กล่าว พร้อมทั้งแจงรายละเอียดที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากนาข้าว
มาเป็นไร่ถั่วลิสง

            เพราะโก๋แก่รับประกันราคารับซื้อถั่วลิสง 30 บาท/กิโลกรัม หรือตันละ 30,000 บาท ผลผลิตเฉลี่ย
จะได้ประมาณ 600-800 กิโลกรัม หักค่าลงทุนที่โก๋แก่จ่ายล่วงหน้าไร่ละ 3,850 บาท และค่าไถ ค่าหยอดเมล็ด และค่าดูแล

            “เขาบอกมีเหลือแน่ๆ 5,000 บาทต่อไร่  ในขณะข้าวเราได้ 2,000-3,000 บาท ค่าใช้จ่ายสูง
แถมใช้น้ำมากกว่า มันไม่ไหว”

            ส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องตัดสินใจปลูกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างถั่วลิสงกับข้าวนาปรัง เนื่องจากพืช
2 ชนิดต้องการน้ำแตกต่างกัน ข้าวต้องการน้ำมากกว่าถั่ว  ดังนั้นเมื่อต้องส่งน้ำให้นาข้าวก็จะกระทบต่อไร่ถั่ว

            “ทุกวันนี้ก็ต้องควบคุมการให้น้ำถั่ว ไม่อย่างนั้นน้ำมากก็มีแต่ใบ ไม่ออกฝัก ถ้าทำถั่วอย่างเดียว
เราสามารถคุมน้ำได้ทั้งแปลงใหญ่ทีเดียวเลย ผลผลิตน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำ”

            ส่วนในพื้นที่ดอน เกษตรกรขุดบ่อน้ำตื้นและลงทุนติดตั้งสปริงเกลอร์ให้น้ำ หรือบางรายก็ใช้มือรด ซึ่งก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะถั่วลิสงไม่ต้องการใช้น้ำมาก โดยมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120-130 วันเท่าๆ กับอายุนาปรัง

            “เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร แทนการทำนาปรังอย่างเดียว” นายก อบต.โพกล่าว

            พื้นที่ ต.โพ อ.เมือง เป็นแปลงจัดรูปที่ดินแห่งแรกของ จ.ศรีสะเกษ โดยมีแหล่งน้ำสนับสนุน
จากสถานีสูบด้วยไฟฟ้าห้วยสำราญ ซึ่งสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กำลังดำเนินการขยายพื้นที่จัดรูปอีกแปลงประมาณ 2,000 ไร่ ที่อยู่ใกล้เคียงกันอยู่ในขณะนี้ โดยเริ่มรังวัดที่ดินของเกษตรกรเพื่อกำหนดเขตโครงการ และอาศัยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดฮีเป็นแหล่งน้ำต้นทุน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ