ข่าว

พด.เร่งฟื้นฟูสภาพดินในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

  วันที่ 23  มีนาคม 2560 นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานในการเปิดโครงการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ และมอบปัจจัยการผลิต อาทิเช่น ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และสารเร่ง พด. เพื่อแจกจ่ายให้หมอดินอาสาและเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบภัยนำไปฟื้นฟูดินหลังน้ำลด โดยมีนายถวิล มั่งนุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต11 หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการในสังกัด หมอดินอาสา และเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติให้การต้อนรับ 

      ในการนี้ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ยังได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการจัดการดินหลังน้ำลด ดังนี้ สำหรับพื้นที่ปลูกยางพารา ต้องรีบทำการระบายน้ำออกอย่างเร่งด่วน ในขณะดินชื้นหรือชุ่มน้ำ ห้ามเดินเหยียบย่ำหรือใช้เครื่องจักรกลหนัก เข้าพื้นที่เพื่อป้องกันดินแน่น เมื่อดินแห้ง ให้พรวนดินโคนต้นยางพาราที่อายุน้อย เพื่อปรับสภาพทางกายภาพของดินสำหรับยางพาราที่อายุมากไม่ควร พรวนดินใต้โคน ต้นเพราะจะทำให้กระทบกระเทือนต่อราก ฟื้นฟูคุณสมบัติของดิน โดยการใส่ปุ๋ยหมักที่ผสมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ในกรณีที่พื้นที่อยู่ในสภาพน้ำแช่ขังเป็นเวลานานและเสี่ยงต่อการเกิดโรค หากพื้นดินภายหลังน้ำท่วมเกิดสภาพความเป็นกรด ให้ใส่อินทรียวัตถุหรือปูน เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดิน โดยปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับสภาพความรุนแรงของกรดในพื้นที่นั้น ๆ

         พื้นที่ปาล์มน้ำมัน ในขณะน้ำท่วมขัง หรือดินยังมีความชื้นสูง ห้ามเข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นปาล์มโดยเด็ดขาด เพราะหน้าดินที่ถูกน้ำขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลาย รวมทั้งหาทางระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยรักษาระดับน้ำให้ต่ำกว่าบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมัน 50 เซนติเมตร หลังน้ำลดและดินแห้งแล้วควรทำการขุด หรือปรับดินเหล่านั้นออกจากโคนต้นปาล์ม นอกจากนี้ต้นปาล์มน้ำมันที่ล้มหรือเอนเอียง ควรจัดการให้ต้นปาล์มน้ำมันตั้งตรงเช่นเดิม ต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว หากน้ำท่วมทะลายเป็นเวลานาน จะทำให้ทะลายเน่า เจ้าของสวนจะต้องตัดทะลายที่เน่าทิ้ง เพื่อช่วยให้ต้นปาล์มน้ำมันฟื้นตัวเร็วขึ้น ควรมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้บ้าง เพราะระบบรากของพืชยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ภายหลังน้ำท่วม มักเกิดปัญหาโรคที่เกิดจากเชื้อรา ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราช่วย และเมื่อดินแห้งแล้ว ควรมีการพรวนดิน เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่พืช จะทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น

        และพื้นที่นาข้าว หากนาข้าวถูกน้ำท่วมขังจนเสียหายหมด ให้ใช้ พด.2 ในอัตรา 5 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ พร้อมกันนั้นกรมพัฒนาที่ดินยังแจกเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้เกษตรปลูกหลังน้ำลด เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และเพิ่มธาตุอาหาร จำพวกปอเทือง โสนแอฟริกัน ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ และพืชตระกูลถั่ว ให้เกษตรกรปลูก ช่วยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารพืชในดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหารจากการถูกชะล้าง และเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตามชนิดและปริมาณที่เหมาะสมกับพืชที่ปลูก ในอัตราประมาณ 5-8 กิโลกรัมต่อไร่              ส่วนพื้นที่ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น กรณีพื้นที่ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นถูกน้ำท่วมขัง ควรปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่สวนผลไม้ หลังน้ำลด เพื่อช่วยเหลือรากต้นไม้ผลที่ขาดออกซิเจน ขณะที่เศษซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมอยู่ในดินเกิดการย่อยสลายในสภาพไม่มีอากาศ เกิดเป็นก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อรากต้นไม้ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไข่เน่า เป็นต้นหลังจากน้ำเริ่มลดลงใกล้แห้งต้องรีบดำเนินการแก้ไขและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับต้นไม้ผลคือ หากพบว่า ต้นไม้ที่ลำต้นเอนใกล้ล้ม ให้ใช้ไม้ค้ำยันไว้ โดยไม่เข้าไปเหยียบย่ำโคนต้น จากนั้นต้องระบายน้ำที่แช่ขังบริเวณโคนต้นออกให้หมด เมื่อดินเริ่มแห้งให้ตัดแต่งกิ่งที่ใบแก่และใบที่ไม่ได้รับแสงแดดออก ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีบำรุงดิน โดยใส่บริเวณรอบๆ ทรงพุ่ม สำหรับปุ๋ยหมักที่ใช้ให้ขยายเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ก่อนรดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่เตรียมจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เจือจาง 1:500 เพื่อเร่งการเจริญของระบบรากพืช

           ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางฟื้นฟูและจัดการดินหลังน้ำท่วม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือหมอดินอาสาในชุมชน หรือ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 0-2561-4516


 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ