ข่าว

ยึดศาสตร์พระราชา บริหารจัดการน้ำทุ่งมะขามหย่อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

                กรมชลประทานยึดพระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 บริหารจัดการน้ำ “ทุ่งมะขามหย่อง” เผยสามารถช่วยเกษตรกรในพื้นที่ทำนาปรังช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 1,000 ไร่ และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่บริหารจัดการน้ำแก้มลิงทุ่งมขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยระบุว่ากรมชลประทานได้นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในสระเก็บน้ำ โครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตําบลบ้านใหม่ อําเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในรูปแบบพื้นที่แก้มลิง ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่สระเก็บน้ำในโครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้ประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นปริมาณน้ำเก็บกักที่สามารถนํามาใช้ประโยชน์โดยวิธีการธรรมชาติ 500,000 ลูกบาศก์เมตร

          สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรมชลประทานจะทำการเติมน้ำให้กับสระโดยใช้ระบบท่อ มี 3 รูปแบบ คือ ท่อส่งน้ำจากคลองชัยนาท – อยุธยา เติมน้ำได้วันละ 63,000 ลูกบาศก์เมตร โรงสูบน้ำจากแม่นํ้าเจ้าพระยาเติมน้ำได้วันละ 166,000 ลูกบาศก์เมตร แต่หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงจะสามารถไหลเข้าสระเก็บน้ำตามธรรมชาติ และท่อรับน้ำและระบายน้ำทรงสี่เหลี่ยม เติมน้ำได้วันละประมาณ 300,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งจะทําการส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมรอบโครงการฯ จํานวน 1,037 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ตําบลบ้านใหม่ ตําบลวัดตูม และตําบลภูเขาทอง อําเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านระบบชลประทานที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ (กลุ่มพื้นฐาน) “ทุ่งมะขามหย่อง” ขึ้นมาทำงานร่วมกับกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำให้ตรงกับความต้องการของเกษตรอีกด้วย 

          สำหรับการวางแผนการใช้น้ำประจําปีจะพิจารณาใช้น้ำจากน้ำต้นทุนที่ไหลหลากเข้าทางท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากทุ่งฝั่งทิศเหนือ ซึ่งแต่ละปีจะเข้ามากน้อยต่างกันตามปริมาณฝนที่ตก แต่ถ้าในฤดูแล้งมีประมาณน้ำในอ่างฯ ไม่เพียงพอก็จะสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมลงในอ่างฯ เพื่อสามารถส่งให้พื้นที่นาปรังเป็นช่วงๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 500,00 ลูกบาศก์เมตร ส่วนในช่วงฤดูเกิดอุทกภัยหรือช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปี กรมชลประทานจะยึดแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการใช้พื้นที่สระเก็บน้ำดังกล่าวเป็นพื้นที่ “แก้มลิง” ในการบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยการเปิดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยวิธีธรรมชาติ (Gravity) รับน้ำเข้าสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย จนเต็มสระที่ระดับเก็บกักสูงสุดปกติ           

          “ในปี 2553 และปี 2554 เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะในปี 2554 นับเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นนั้น โครงการพระราชดําริของพระองค์ท่านสามารถใช้พื้นที่เป็น “แก้มลิง” ในการช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

---------------------------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ