ข่าว

กรมชลฯ สร้างโครงข่ายแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัยแก้ปัญหาน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

 

กรมชลประทานเพิ่มศักยภาพแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย ภายใต้ยุทธศาสตร์น้ำของชาติ หวังเชื่อมโยงเป็นระบบโครงข่ายชลประทานพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตามศาสตร์พระราชา มั่นใจแก้ปัญหาน้ำได้ครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีแผนที่จะดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน และยังเป็นการใช้แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยให้เต็มศักยภาพ ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระของแม่น้ำท่าจีนที่มีความคดเคี้ยวมาก ทำให้ระบายน้ำได้ช้า โดยจะดำเนินการขุดลอกแก้มลิงเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลระยะทาง 42 กิโลเมตร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน ประกอบกับการทรุดตัวของแนวคัน จึงต้องปรับปรุงใหม่ พร้อมทั้งอาคารประกอบ

นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำปลายคลองแสมดำบริเวณก่อนบรรจบคลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัยลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่งมีอัตราการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อีกด้วย

          สำหรับโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย เป็นหนึ่งในแก้มลิงปฐมบทเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริเบื้องต้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้พิจารณาใช้คลองสรรพสามิตและคลองสหกรณ์เป็นพื้นที่แก้มลิง หากเมื่อลงพื้นที่สำรวจแล้วพบว่า น้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนผ่านมาตามคลองต่างๆ ลงมาไม่ถึงคลองสรรพสามิตและคลองสหกรณ์ เนื่องจากมีคลองมหาชัยและคลองสนามชัยกั้นอยู่ จึงเห็นควรเปลี่ยนพื้นที่แก้มลิงมาดำเนินการที่คลองมหาชัยและคลองสนามชัยแทน ซึ่งรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเห็นชอบให้เปลี่ยนตำแหน่งคลอง

          ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญของแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย ประกอบด้วยคลองมหาชัย – คลองสนามชัย และคลองสาขาต่างๆ รวม 10 คลอง ทำหน้าที่เสมือนกระพุ้งแก้มของลิง โดยจะรับน้ำมาเก็บไว้แล้วปล่อยระบายในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงที่น้ำทะเลลดลง มีความจุรวม 6 ล้านลูกบาศก์เมตร อาคารบังคับน้ำตามแนวคลอง เช่น ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ทำหน้าที่เป็นปากเปิด/ปิด รับน้ำเข้า – ออกแก้มลิง คันกั้นน้ำ ทำหน้าที่ป้องกันน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาในพื้นที่แก้มลิง โดยมีลักษณะทำนบดินบดอัดแน่น และบางช่วงเป็นถนน สามารถสัญจรได้ โดยทำนบจะเชื่อมโยงระหว่างประตูระบายน้ำ และกำแพงกั้นน้ำ ซึ่งเป็นกำแพงสองฝั่งคลองมหาชัย ตั้งแต่ท้าย ปตร.มหาชัย จนถึงปากคลองติดแม่น้ำท่าจีนป้องกันน้ำที่จะสูบระบายจากแก้มลิงออกไปทางปากแม่น้ำท่าจีน (บริเวณตัวเมืองสมุทรสาคร)

          “การเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย เป็นดำเนินโครงการตามศาสตร์พระราชาในการเพิ่มประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงเป็นระบบโครงข่ายชลประทาน เพื่อสร้างสมดุลให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งภายใต้ยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ โดยจะเชื่อมโยงกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตก

ของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในพื้นที่ตอนบนเหนือคลองเจ้าเจ็ด – บางยี่หน และพื้นที่ตอนล่าง ใต้คลองเจ้าเจ็ด – บางยี่หน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงสู่แก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัยได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเพิ่มปริมาตรความจุของคลองที่ใช้เป็นแก้มลิงให้สามารถเก็บกักน้ำได้ใกล้เคียงกับปริมาตรน้ำที่กำหนดไว้เดิม ให้สามารถระบายน้ำโดยตรงจากแก้มลิงลงสู่ทะเล (แนวเหนือ – ใต้) ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านทางระบบคลองและสถานีสูบน้ำด้านท้ายโครงการแก้มลิง และยังทำให้แนวคันกั้นน้ำเดิมสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ