ข่าว

เกษตรฯ ดำเนิน 3 กลยุทธ์การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

                                                นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง   รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญ  บนเกาะสมุย ในวันที่ 15มีนาคม 2560 เพื่อรับฟังปัญหา ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตมะพร้าว ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยตรง ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีมีดำริให้ส่งเสริมการผลิตในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ และจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการกำหนดแนวทางป้องกัน ปราบปรามและพัฒนาการผลิตมะพร้าว โดยคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการผลิตมะพร้าว เพื่อส่งเสริมการผลิตมะพร้าว รวมทั้งหามาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคและแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรอย่างยั่งยืน

                                รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฏร์ธานี ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืชจังหวัดสุราษฏร์ธานี กรมวิชาการเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกรและเอกชนได้บูรณาการ ทั้งด้านงบประมาณและบุคคลากรรูปแบบประชารัฐร่วมกันรณรงค์ในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี พื้นที่ 66,132 ไร่ โดยได้ดำเนิน 3 กลยุทธ์ การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาขีดความสามารถด้านการจัดการศัตรูมะพร้าว โดยการเพิ่มวัสดุอุปกรณ์ ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร และประเมินผล กลยุทธ์ที่ 2 สร้างระบบเฝ้าระวังเตือนภัย การพัฒนาสำรวจ จัดเก็บข้อมูล การประมวลผลและพยากรณ์ กลยุทธ์ที่ 3 ป้องกัน ควบคุม โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ เพื่อควบคุม กำจัดแบบครอบคลุมพื้นที่โดยวิธีผสมผสาน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

                                จากผลการดำเนินการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวในจังหวัดเกาะสมุย พบการระบาดของศัตรูมะพร้าวทั้ง 3 ชนิด คือ แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ ด้วงแรดมะพร้าว ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบการระบาดในพื้นที่ 8,799 ไร่ จากพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 1.64 แสนไร่ คิดเป็นพื้นที่ระบาดเพียงร้อยละ 5.35 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด (จากข้อมูลการระบาด ณ วันที่ 8 มีนาคม 2560) แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง จึงทำให้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำคัญของมะพร้าวยังไม่สามารถป้องกันและกำจัดได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ ศัตรูมะพร้าวโดยเฉพาะแมลงดำหนามและหนอนหัวดำที่เกษตรกรกำลังประสบปัญหา     การเข้าทำลาย ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น มีการระบาดและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้นมะพร้าวบนเกาะสมุย ร้อยละ 60 มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกษตรกรขาดการดูแลรักษาต้นมะพร้าว ส่งผลให้เกิดแมลงศัตรูมะพร้าวระบาดและผลลิตลดลง

 

                                กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรควบคุมการระบาดศัตรูมะพร้าว ดังนี้

                                                การควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว

                           1. ตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายมาเผา เพื่อทำลายหนอนหัวดำในระยะไข่ ระยะตัวหนอน และระยะดักแด้ โดยเกษตรกรต้องหมั่นเข้าไปสำรวจทางใบมะพร้าวถ้าพบมีการทำลายของหนอนหัวดำให้ตัดทางใบนั้นมาเผาทำลายทันที

2. พ่นด้วยเชื้อบีที พ่นหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ จำนวน ๓ ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน         ๗ - ๑๐ วัน อัตรา 80 - 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมด้วยสารจับใบ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก ไม่ควรพ่นในขณะที่มีแสงแดดจัดเพราะจะทำให้เชื้อบีทีอ่อนแอ ควรพ่นช่วงเช้าก่อนเวลา 10.00 น. หรือช่วงเย็นหลังเวลา 16.00 น. และต้องใช้เชื้อบีที ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น

3. ปล่อยแตนเบียนไข่ทริโครแกรมมา เพื่อควบคุมระยะไข่ของหนอนหัวดำ อัตราไร่ละ 10 แผ่น แผ่นละ ๒,๐๐๐ ตัว โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน ๑๕ วัน

4. ปล่อยแตนเบียนบราคอน เพื่อควบคุมระยะหนอน ของหนอนหัวดำ อัตราไร่ละ ๒๐๐ ตัว กระจายทั่วทั้งแปลง โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน ๑๕ วัน

5. ใช้สารเคมีอิมาเม็กติน เบนโซเอท 1.92 % EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น     โดยการเจาะลำต้นมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 รู ให้รูอยู่ตรงกันข้ามกัน ใช้ดอกสว่านขนาด ๔ - ๕ หุนเจาะลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตร แล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที

6. กรณีมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล ให้ใช้วิธีการพ่นสารทางใบ โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้

             - ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% ดับบลิวจี                         อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

             - คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสจี                  อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

             - สปินโนแสด 12% เอสจจี                                     อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

              - ลูเฟนยูรอน 5% อีซี                                               อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

                การควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว

                                1. ในมะพร้าวต้นเตี้ย ตัดยอดที่ถูกแมลงกัดกินมาเก็บไข่ หนอนและตัวเต็มวัยไปทำลาย

                                2. ปล่อยแตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าวอะซีโคเดส อัตรา 5 - 10 มัมมี่ต่อไร่ปล่อย        3 - 5 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกัน 7 - 10 วัน

                                3. ในมะพร้าวต้นเตี้ยใช้เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร         (นำเชื้อราที่เจริญบนเมล็ดธัญพืชมาขยำ เพื่อแยกกากออกและเอาเฉพาะสปอร์ที่อยู่ในของเหลว) ผสมสารจับใบ พ่นยอดมะพร้าวกำจัดหนอน ดักแด้และตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าว

       4. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบ เพื่อกินไข่ และหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว       

                                การควบคุมด้วงแรดมะพร้าว

                                1. เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของมะพร้าว

                                2. เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร

                                3. ถ้ามีความจำเป็นต้องกองมูลสัตว์นานเกินกว่า 2 - 3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกอง หรือนำใส่ในถุงปุ๋ยผูกปากให้แน่นและนำไปเรียงซ้อนกันไว้

                                4. หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าว ตามโคนทางใบ หากพบรอยแผลเป็นรู ใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัด

                                5. ใช้กับดักฟีโรโมนล่อจับตัวเต็มวัยมาทำลาย

                                6. ทำกองล่อให้ตัวเต็มวัยของด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ ใช้เชื้อราเมตตาไรเซียม ในอัตรา 400 กรัมต่อกองล่อ คลุกผสมลงในกองล่อให้ทั่ว

                                ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชและรายงานการระบาดได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ