ข่าว

แวะ “อะกรีคัลเจอร์ไฮเทค พาร์ค”ดูปลูกพริก-กล้วยที่จ.ด่องนาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

     การปฏิรูปการเกษตรครั้งสำคัญของเวียดนามจากระบบการผลิตที่กำกับโดยส่วนกลาง ไปสู่การให้ครัวเรือนแต่ละครัวเรือนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจในการผลิต ภายใต้นโยบายการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่านโยบาย “โด๋ยเหม่ย (Doi Moi)” ได้ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในภาคการเกษตรอย่างก้าวกระโดดและกำลังเป็นที่น่าจับตา หวั่นกันว่าอีกไม่กีปีข้างหน้าเวียดนามจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการเกษตรในภูมิภาค และสิ่งที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมนั่นก็คือการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจรจังหวัดละ 1-2 แห่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของจังหวัดนั้นๆ  ภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ภาคเอกชน (เฉพาะคนเวียดนาม) มาเช่าพื้นที่ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในทุกประเภทสินค้า

       “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้จะพาไปดูความก้าวหน้าของภาคเกษตรประเทศเวียดนาม โดยมุ่งหน้าสู่นิคมอุตสาหกรรมการเกษตรที่เขตก๋ำหมี จ.ด่องนาย ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของนครโฮจิมินห์ ภายใต้ชื่อ "อะกรีคัลเจอร์ ไฮเทค พาร์ค บนเนื้อที่กว่า 200 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์เท่ากับ 6.2 ไร่) โดยนิคมแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ปี 2013) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรมาเช่าพื้นที่สร้างโรงงานเกือบจะเต็มพื้นที่แล้ว 

        โชคดีการเดินทางไปดูงานครั้งนี้ได้ “หนุ่ม” ธีรพงษ์ ฤทธิ์มาก บอสใหญ่ซิตโต้ (เวียดนาม) รับอาสาพาไป พร้อมทำหน้าที่ไกด์คอยให้ข้อมูลด้านต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตรของประเทศเวียดนามอย่างละเอียด หนุ่มถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาบุกตลาดประเทศนี้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เคมีภัณฑ์ทางการเกษตรกร ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้า “ม้าน้ำ” ทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรของประเทศนี้เป็นอย่างดี

        ธีรพงษ์เล่าว่า การเดินทางมาเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 2000 ตอนนั้นเวียดนามเกือบจะไม่มีอะไร มีแต่นักลงทุนจากต่างชาติรวมทั้งคนไทยแห่กันเข้ามาลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเวียดนามเริ่งเปิดประเทศใหม่จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจทางด้านการเกษตรจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นการเติบโตภาคเกษตรของเวียดนามแบบก้าวกระโดดก็ว่าได้ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่ต่อเนื่องของรัฐบาลและมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง นิคมอุตสาหกรรมเกษตร หรืออะกรี คัลเจอร์ พาร์ค คือตัวอย่างความสำเร็จในการตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีด้านภาคการเกษตรให้มีความก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้นำด้านการเกษตรในอนาคต

       จากนครโฮจิมินห์ถึงนิคมอุตสาหกรรมเกษตร “อะกรี คัลเจอร์ ไฮเทค พาร์ค” เขตก๋ำหมี จ.ด่องนาย ระยะทาง 75 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมง เมื่อเข้าสู่เขตก๋ำหมี สังเกตสวนยางพาราปลูกเป็นแถวยาวตลอดทั้งสองฝั่งถนนหลายสิบกิโลเมตร สอบถามได้ความว่าเป็นสวนยางพาราของรัฐบาล อยู่ในความดูแลของรัฐวิสาหกิจสวนยางที่อยู่ระหว่างการกรีด พอสุดเขตสวนยางก็ถึงนิคมอุตสาหกรรมเกษตร อะกรี คัลเจอร์ ไฮเทค พาร์ค จ.ด่องนาย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แห่งของจังหวัด 

        ธีรพงษ์ บอกว่านิคมแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว บนเนื้อที่ 200 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์เท่ากับ 6.2 ไร่) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจด้านการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์ โดยเจ้าของธุรกิจทั้งหมดเป็นคนเวียดนาม ข้อดีของนิคมนี้คือรัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและค่าเช่าที่ สำหรับสิทธิพิเศษค่าเช่าที่เพื่อประกอบธุรกิจด้านการเกษตรเป็นเวลา 50 ปี ยกเว้นค่าเช่า 14 ปีแรก จากนั้นจะเก็บค่าเช่า 150 บาทต่อตร.ม.ต่อปี

        การเข้าเยี่ยมชมนิคมวันนั้นได้ไปดูฟาร์มเพาะปลูกพืชผัก โดยสร้างเป็นโรงเรือนใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของบริษัท หย่า เหวียนจำกัด ของเหงียนฮ่อง ดัง ควา ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 15 เฮกตาร์ ตรงปากทางเข้านิคมอะกรี คัลเจอร์ ไฮเทค พาร์ค แบ่งเป็นโรงงานผลิตโรงเรือนสำเร็จรูปสำหรับปลูกพืชผักเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าที่สนใจ โดยวัสดุก่อสร้างบางส่วนนำเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์ ใกล้กันจะเป็นแปลงสาธิตการเพาะปลูกพืชผักในโรงเรือนแบบปิด

     ฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับโรงเรือนเพาะปลูกไฮเทคจากเหงียน ฮ่อง ดัง ควา ก็ต้องบอกว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะโรงเรือนไฮเทคของเขานั้นปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในเวียดนาม โดยเฉพาะแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่มีชื่อเสียงของเวียดนามที่เมืองดาลัส ทางตอนกลางของประเทศนั้น กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ใช้โรงเรือนไฮเทคจากบริษัทเขา ไม่เพียงทำตลาดในประเทศเท่านั้นยังส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย ล่าสุดเพิ่งไปติดตั้งให้ลูกค้าประกอบธุรกิจผลิตพืชผักรายใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ 

     จากนั้นเดินทางสู่เขตจ๋านบอม จ.ด่องนาย เพื่อไปดูแปลงปลูกพริกไทยของเกษตรกรเวียดนามซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตก๋ำหมีมากนัก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที ธีรพงษ์บอกว่าที่นี่เป็นแหล่งปลูกพริกไทยคุณภาพส่งออก ไม่แพ้แหล่งผลิตใหญ่ในเขตตอนกลางของประเทศ โดยเกษตรกรมีพื้นที่ปลูกไม่มากเพียงคนละ 3-5 ไร่เท่านั้นแต่มีรายได้หลักแสนบาทต่อปี ปัญหาส่วนใหญ่ขาดแคลนแรงงาน คนงานเก็บพริกไทยส่วนใหญเป็นคนกัมพูชาที่เข้ามารับจ้างเก็บพริกที่ในเขตนี้ โดยค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน

      เขตจ๋านบอม ไม่เพียงแค่ปลูกพริกไทย แต่เป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมคุณภาพส่งออกที่สำคัญของประเทศอีกด้วย กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทำการเกษตรของเขตนี้จะปลูกกล้วยหอมส่งออกไปยังประเทศจีน จะสังเกตกล้วยหอมที่ปลูกในเขตนี้ลูกใหญ่และยาวมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินดำอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นใช่แค่ใช้สำหรับปลูกพืชผักไม้ผล แต่ทุกอณูพื้นที่บริเวณบ้านจะเต็มไปด้วยพืชผักไม้ผล สมุนไพร ไม่มีบ้านหลังใดที่ปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

       ก่อนกลับเราได้อำลา พร้อมขอบคุณ เติน เตี้ยจา เจ้าของร้านตันทูยัด  เอเย่นต์รายใหญ่ของซิตโต้ (เวียดนาม) เขตจ๋านบอม ที่อาสาพาไปเยี่ยมชมแปลงพริกไทยและกล้วยหอมคุณภาพของเกษตรกรเวียดนามและรับปากพวกเขาว่าหากมีโอกาสจะกลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง

                                                       ..........................................................................................   

             

         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ