ข่าว

นายกฯลงพื้นที่รับฟังปัญหาสถานการณ์น้ำปราจีนบุรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

         ​นายกฯนำคณะตรวจราชการจ.ปราจีนบุรี พร้อมรับฟังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ด้านกรมชลมั่นใจปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ พร้อมควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี ไม่ให้กระทบต่อน้ำผลิตประปา

         เช้าวันที่ 9 มี.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. นำคณะลงพื้นที่อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เพื่อตรวจราชการ และเยี่ยมชมโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อตรวจระบบการรักษาพยาบาลและดูความก้าวหน้าของโครงการเมืองสมุนไพร พร้อมรับฟังปัญหาสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีต่อนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรี มีแหล่งน้ำต้นทุนและใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและอ่างเก็บน้ำพระราชดำริ 4 แห่ง รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 5 แห่ง ซึ่มีปริมาณเก็บกักสูงสุดรวมกันประมาณ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน(7 มี.ค. 60)มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 217.26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันทั้งหมด จะเห็นได้ว่าในปีนี้ มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(ห้วยโสมง) สามารถเก็บกักน้ำได้แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา ช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2559 ในเขตจังหวัดปราจีนบุรีได้เป็นอย่างมาก และยังส่งผลให้มีปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นายกฯลงพื้นที่รับฟังปัญหาสถานการณ์น้ำปราจีนบุรี

         รองอธิบดีกรมชลประทานเผยต่อว่าสำหรับมาตรการและโครงการภายใต้แผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2559/2560 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ 6 มาตรการ 30 โครงการ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเตรียมการป้องกันปัญหาภัยแล้ง ดังนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ชลประทาน โดยสถานีสูบน้ำบ้านโนนมะง่อง อ.กบินทร์บุรี ปรับเปลี่ยนการทำนามาปลูกข้าวโพด 3,000 ไร่ ,การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้ร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ขุดลอกแก้มลิงหนองตะคร้อ อ.ประจันตคาม สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 500,000 ลูกบาศก์เมตร ,การพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัย ได้ดำเนินการจ้างแรงงานเกษตรกร ในการขุดลอดตะกอนดินโครงการฝายห้วยใคร้ อ.กบินทร์บุรี จำนวน 120 ราย ,การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ได้เข้าไปพบปะกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อชี้แจงและขอความร่วมมือในการงดทำนาปรังครั้งที่ 2 พร้อมกับถ่ายทอดความรู้รณรงค์เรื่องการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ผ่านศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)

           นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี ไปเก็บไว้ในสระสำรองน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านสร้าง สำหรับผลิตประปาไปจนสิ้นสุดฤดูแล้ง พร้อมกับสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 2 คัน เพื่อบรรทุกน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาคปราจีนบุรี ไปส่งให้โรงพยาบาลอภัยภูเบศรตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ ในส่วนของการสนับสนุนแหล่งน้ำให้กับระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีจำนวน 5 แปลง พื้นที่ประมาณ 9,749 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 630 ราย อาทิ แปลงใหญ่ต้นแบบ(ข้าว) ในพื้นที่ ม.4 บ.โนนมะง่อง ต.นามแขม อ.กบินทร์บุรี มีเกษตรกรเข้าร่วม 200 ราย พื้นที่เป้าหมาย 3,000 ไร่ ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองมันปลาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

         นายทองเปลวยังกล่าวถึงสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี ที่มักจะประสบปัญหาเป็นประจำทุกปี นั้น กรมชลประทาน ได้ควบคุมความเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี ที่จุดเฝ้าระวังบริเวณอ.เมืองปราจีนบุรี ไม่ให้มีค่าเกิน 1 กรัมต่อลิตร ไปจนถึง 31 มี.ค. 60 ปัจจุบันมีค่าความเค็มอยู่ที่ 0.149 กรัมต่อลิตร ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังควบคุมความเค็มที่ประตูระบายน้ำหาดยาง อ.ศรีมหาโพธิ์ ไม่ให้ค่าความเค็มเกิน 1 กรัมต่อลิตรตลอดทั้งปีอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาฯ อ่างเก็บน้ำพระปรง และอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง ในการผลักดันน้ำเค็ม อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนางานด้านชลประทาน ตามข้อสั่งการของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง ปิดกั้นน้ำในคลองสถานี เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืดสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ ม.7 บ้านสร้างและพื้นที่ใกล้เคียง และเป็นการป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าไปในคลองสถานี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการผลิตประปาของบ้านสร้างอีกด้วย หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 200 ไร่ และมีราษฎรได้รับประโยชน์ 328 ครัวเรือน โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนเมษายน 2560 แล้วเสร็จตามแผนในเดือนกันยายน 2560

         ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญคือ โครงการระบบท่อส่งน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้อง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตประปา โดยการก่อสร้างท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้อง ความยาวท่อรวม 13,800 เมตร สำหรับส่งน้ำให้กับการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปราจีนบุรีตลอดในช่วงฤดูแล้ง หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 2,800 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 400 ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 35 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนเมษายน 2560 นี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ