ข่าว

วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

กรมชลฯ วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง

          กรมชลประทาน วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยางดทำนาปรังต่อเนื่อง หลังพบพื้นที่ปลูกเกินแผนไปแล้วกว่า 2.65 ล้านไร่ เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,573 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 62 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,753 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ รวม 17,661 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 13,218 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 53 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,522 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การ วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง รวม 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร

          ผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,588 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,588 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 77 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 รวม 435 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศปี 2559/60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.33 ล้านไร่ มากกว่าแผน 3.33 ล้านไร่(แผนวางไว้ 4 ล้านไร่) พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้วางแผนทำนาปรังไว้ 2.67 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.32 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ถึง 2.65 ล้านไร่ 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนไปแล้วเกือบ 2 เท่า ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่นๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น หากยังมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และอาจทำให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง หรือนาปรังรอบที่ 2 พร้อมกับขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้านี้ด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ