ข่าว

ไทยปลอดหวัดนกในสถานการณ์เสี่ยงรอบทิศทาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

แม้ครั้งหนึ่งเมื่อ 12 ปีก่อน (ปี 2547) ประเทศไทยจะประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก ทำให้อุตสหกรรมสัตว์ปีกของไทยถึงกับทรุดลง แต่นับตั้งแต่ปี 2549 การแก้ปัญหาหวัดนกของไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จทำให้ความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกของไทยกลับเข้มแข็งขึ้น

คงไม่เพียงสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าปีนี้ไทยจะมีการเติบโตของตลาดส่งออกเนื้อไก่ที่ 4-5% สามารถส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปปรุงสุกได้มากขึ้นเป็น 7.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.79 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หากแต่ไทยยังประสบความสำเร็จในการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกมาเกือบ 10 ปี

นสพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า ไทยประกาศเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ยังคงรักษาสถานภาพปลอดโรคไข้หวัดนก และสามารถป้องกันโรคนี้ได้ 100% แม้ในขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกยังต้องเผชิญปัญหานี้อยู่ก็ตาม โดยไทยไม่พบการติดเชื้อในคนมาตั้งแต่ปี 2549 และยังคงสถานะประเทศปลอดโรคตามรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (โอไออี) นับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน 

ทั้งหมดนี้เกิดจากการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มสัตว์ปีกอย่างเคร่งครัดของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก และการป้องกันสัตว์พาหะนำโรคด้วยระบบฟาร์มปิดอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการเฝ้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมและตรวจสอบสัตว์ปีกและคนรวมถึงพื้นที่เสี่ยงในเชิงรุก

ปัจจุบันแม้ว่าขณะนี้หลายทวีปรวมถึงทวีปเอเชียและประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงของไทย ยังคงตรวจพบโรคไข้หวัดนกก็ตาม แต่ไทยยังเดินหน้ามาตรการคุมเข้มเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ทำฟาร์มสัตว์ปีกให้เพิ่มการตรวจสอบเข้มงวดไม่ให้สัตว์ที่อาจเป็นพาหะเข้าฟาร์มได้ และเน้นการบริหารจัดการภายในฟาร์มด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าทั้งสัตว์ปีกและไข่ไม่มีโรค สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

   สำหรับประเทศที่มีปัญหาด้านไข้หวัดนกนับแต่ช่วงปลายปี 2559 มีหลายประเทศมีข่าวคราวการระบาดของไข้หวัดนกยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และแคเมอรูน

องค์การอนามัยโลก หรือฮู ได้เตือนให้ประเทศต่างๆ เฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในหลายประเทศทั้งในเขตหนาว และจากรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือโอไออี พบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติในประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น ลาว พม่า เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และกัมพูชา ล่าสุดหลายเมืองในจีนได้สั่งปิดตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก

     ส่วนประเทศไทยที่ประสบการระบาดมาก่อนตั้งแต่ปี 2547 และมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาการจัดการมาอย่างต่อเนื่อง อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และกับกรมปศุสัตว์ ด้วยการนำแนวคิดของโอไออี มาปรับใช้ในระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน 

ในส่วนของซีพีเอฟ ได้สอบถาม นสพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีก ซีพีเอฟ ทราบว่า บริษัทนำเอาระบบคอมพาร์ตเมนต์และฟาร์มระบบปิด มาปรับใช้ในการเลี้ยงสัตว์ มีการแยกส่วนการเลี้ยงที่ชัดเจน เพื่อให้ทราบสถานะสุขภาพสัตว์ตลอดการเลี้ยง ซึ่งระบบนี้เน้นมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่ลดโอกาสและความเสี่ยงการเกิดโรค ซึ่งการควบคุมป้องกันโรคทั้งภายในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์มอย่างเข้มงวด ซึ่งมี 4 หัวใจสำคัญ คือ เฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง วางโปรแกรมการตรวจ พัฒนาวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้ผลวินิจฉัยที่รวดเร็ว แม่นยำ และมาตรการตอบสนองอย่างทันท่วงที นับเป็นบริษัทแรกของไทยที่นำระบบนี้มาใช้ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์และประเทศผู้นำเข้า

     ปัจจุบันซีพีเอฟยังเพิ่มระบบไบโอซีเคียวริตี้ในฟาร์ม โดยเน้นการจัดการระบบที่ดี ถือเป็นหัวใจหลักของระบบฟาร์ม และมีการตรวจสอบให้ปลอดโรค ปลอดสารในทุกขั้นตอน รวมทั้งเพิ่มระบบ จีพีเอส เพื่อติดตามการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังโรงชำแหละให้อยู่ในเส้นทางที่กำหนด ความเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ ประกอบกับความมุ่งมั่นของภาคเอกชน ส่งผลให้ไทยมีความสามารถในการป้องกันอย่างเข้มแข็งจนประสบความสำเร็จ สามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นจากประเทศคู่ค้าต่างๆ กลับมาได้ทั้งหมด ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์      ปีนี้สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยคาดการณ์ปริมาณการส่งออกไก่ในปี 2560 นี้ว่า จะมียอดรวม 7.5 แสนตัน มูลค่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 6-7% ความเข้มแข็งของภาคปศุสัตว์ที่ว่านี้ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงหรือกังวลในด้านตลาดและราคา ยังส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยด้วย เรียกว่าวินกันทั่วหน้าครับ

นับเป็นความสำเร็จเป็นอย่างดีกรมปศุสัตว์ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและเกษตรกร แม้ประเทศเพื่อบ้านมีการระบาดไข้หวัดนกแต่ประเทศไทยปลอดภัยมากว่า 10 ปีแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ