ข่าว

เปิดยุทธการ“ฝนหลวง”สู้ภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

“ฝนหลวง” เป็นศาสตร์พระราชา เปรียบเสมือนหนึ่ง “มรดกจากพ่อ” พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานให้แก่คนไทยและประเทศไทยทั่วแผ่นดิน ซึ่งใน60 ปีที่ผ่านมา เราต่างประจักษ์กันดีถึงคุณูปการของ“ฝนหลวง”ที่ช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤติภัยธรรมชาติมาแล้วนับร้อยนับพันเหตุการณ์ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควันพิษ แม้กระทั่งการเติม “น้ำต้นทุน” ให้กับอ่างเก็บน้ำ เขื่อนและป่าต้นน้ำแหล่งต่างๆ

 เปิดยุทธการ“ฝนหลวง”สู้ภัยแล้ง

“เทคโนโลยีฝนหลวง” จึงนับเป็นนวัตกรรมเป็นศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติ และมิได้เป็นเพียง “มรดกจากพ่อ” ที่เราต้องรักษาเอาไว้ให้ดีเท่านั้น แต่ยังสมควรต้องนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้นำไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ปฏิบัติหน้าที่สนองพระบรมราโชบายในการนำเทคโนโลยีฝนหลวงไปช่วยเหลือประชาชน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ในอีก 20 ปีข้างหน้า กรมฝนหลวงฯ จึงได้ปรับทิศทางและเป้าหมายองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบาย โดยวางยุทธศาสตร์ภายใต้วิสัยทัศน์ “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 2579” โดยน้อมนำแนวทางจากตำราฝนหลวงพระราชทาน มาใช้เป็นพื้นฐานดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมาย

“ตัวชี้วัดความสำเร็จของการไปสู่เป้าหมายครั้งนี้ คือ กรมฝนหลวงฯ จะก้าวสู่การเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับนานาชาติ และแก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ 100% ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ 3.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านการบิน และ 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ”

เพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ขอพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” กรมฝนหลวงฯ ยังได้ร่วมกับกรมชลประทาน กรมป่าไม้ ดำเนินโครงการ“ความร่วมมือ R3 เพื่อการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ” ในพื้นที่ “เขื่อนแก่งกระจาน” จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เสด็จฯ ทรงงานที่สำคัญหลายเหตุการณ์ และเป็นสถานที่ที่ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2515

“โครงการนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำ ระหว่างกรมฝนหลวงฯ กรมชลประทาน และกรมป่าไม้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งเกษตรกรทั้งในและนอกเขตชลประทาน มีการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ การเติมน้ำในเขื่อนและเสริมน้ำฝนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่าและพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการโปรยเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน โดยดำเนินการตั้งแต่กุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2560 จากนั้นกรมฯ จะนำข้อมูลผลปฏิบัติการทั้งหมด ไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”

ส่วนแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 อธิบดีกรมฝนหลวงฯ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 10-12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยจะเริ่มเปิด “ยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง” ประจำปี 2560 อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มีนาคม 2560 ที่สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ หรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย โดยเฉพาะการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนลำตะคอง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ทั้งยังมีการเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการเสริมอื่นๆ เช่น การลดปัญหาหมอกควัน เพิ่มความชุ่มชื้นในดิน และยับยั้งการเกิดลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน

โดยภายในงาน นอกจากจะมีพิธีทางศาสนา การให้โอวาทเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นักบินและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การจัดนิทรรศการชุด “ด้วยศาสตร์ของพระราชา นำพาฝนหลวงก้าวไกลในต่างแดน” เพื่อเทิดพระเกียรติร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ องค์พระบิดาแห่งฝนหลวง นิทรรศการของหน่วยงานความร่วมมือ อาทิ กองทัพอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปตท. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งขาติ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นต้น และการแสดงการบินหมู่ของเครื่องบินชุดปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธีการทั้งหมดแล้ว ฝูงบินฝนหลวงจะถูกส่งออกไปปฏิบัติการสู้ภัยแล้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศทันที

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่า กรมฝนหลวงฯ จะทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง และจะพัฒนา “เทคโนโลยีฝนหลวง” ซึ่งเป็นศาตร์และมรดกที่ “พ่อ” มอบให้ ให้สามารถช่วยเหลือคนไทยทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ