ข่าว

หนุนเลี้ยงโคเนื้อ ลดบุกรุกป่า!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

         กรมปศุสัตว์บูรณาการสานพลังน่าน หนุนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อทดแทนการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ไม่ถูกต้อง มุ่งปรับเปลี่ยนอาชีพสร้างรายได้มั่นคง ลดการบุกรุกป่า แก้ปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

         นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เนื่องจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยปัญหาป่าถูกทำลายระหว่างการเสด็จฯทรงงานในพื้นที่จังหวัดน่าน ประกอบกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ซึ่งรับทราบถึงแนวทางการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่เขาสูงชัน (เขาหัวโล้น) ของจังหวัดน่าน

หนุนเลี้ยงโคเนื้อ ลดบุกรุกป่า!

         กรมปศุสัตว์จึงได้จัดทำโครงการประชารัฐ-สานพลังน่านพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2559-2563) โดยปีแรกนี้มีแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.น่าน เร่งส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ไม่ถูกต้องในเขต 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูเพียง สันติสุข บ่อเกลือ แม่จริม และอำเภอปัว ให้จัดตั้งกลุ่มและปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงโคเนื้อทดแทน เป้าหมายกลุ่มเกษตรกร 10 กลุ่ม สมาชิก 102 ราย

         ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตโคเนื้อให้เพียงพอต่อการบริโภค พร้อมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างมั่งคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันยังมุ่งลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และลดพื้นที่บุกรุกป่า ช่วยแก้ปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันไม่น้อยกว่า 510 ไร่ เมื่อปี 2559

        “ธนาคารโค-กระบือฯจะสนับสนุนแม่พันธุ์โคเนื้อแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รายละ 5 ตัว รวม 510 ตัว และทำสัญญายืมเพื่อการผลิตตามระเบียบของธนาคารโค-กระบือฯ ในส่วนของเกษตรกรต้องจัดทำคอกและโรงเรือน ปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ของตนเองไม่น้อยกว่า 5 ไร่ และต้องคืนพื้นที่บุกรุกป่ารายละไม่น้อยกว่า 5 ไร่ กรมปศุสัตว์จะถ่ายทอดความรู้ด้านจัดการเลี้ยงโคเนื้ให้กับเกษตรกร รวมทั้งวางแผนให้บริการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคเนื้อพันธุ์ดี” นายสัตวแพทย์ไพโรจน์กล่าว

หนุนเลี้ยงโคเนื้อ ลดบุกรุกป่า!

        ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะทยอยส่งมอบแม่พันธุ์โคเนื้อให้กลุ่มเกษตรกรนำร่อง จำนวน 510 ตัว ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ โดยเกษตรกรต้องคืนลูกโคเพศเมีย อายุ 18 เดือน จำนวน 5 ตัวแรกของฝูงให้กับโครงการฯ อย่างไรก็ตาม ภายใน 3-4 ปีข้างหน้าคาดว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะมีรายได้จากอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อรายละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/ปี และจำหน่ายมูลโคได้ปีละ 20,000-30,000 บาท และในปี 2563 กรมปศุสัตว์ตั้งเป้าขยายผลไปสู่เกษตรกรรายใหม่ในพื้นที่ จ.น่าน ไม่น้อยกว่า 500 ราย แม่พันธุ์โคเนื้อ 2,500 ตัว และคาดว่า จะสามารถคืนพื้นที่บุกรุกป่าได้ไม่น้อยกว่า 2,500 ไร่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ