ข่าว

แก้วิกฤติแล้ง"ลุ่มน้ำยม"แบบยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

          เป็นประจำทุกปีที่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มพื้นน้ำยมหลายจังหวัดต้องประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้งซ้ำซากส่งผลกระทบพื้นที่ทำเกษตรได้รับความเสียหายในวงกว้าง เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าวในปีนี้แต่เนิ่นๆ เมื่อเร็วๆนี้พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รุดลงพื้นที่เพื่อเตรียมแผนป้องภัยแล้งลุ่มน้ำยมและบริหารจัดการน้ำให้ผลผลิตที่ปลูกแล้วไม่ให้เสียหาย 

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกันช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ จ.สุโขทัย พิษณุโลก และ พิจิตร ว่า เพื่อเร่งแนวทางช่วยเหลือภัยแล้งในลุ่มน้ำยมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้สั่งการให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการ กรมส่งเสริการเกษตร เตรียมแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/2560 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ส่วนกรมพัฒนาที่ดิน เตรียมแผนการพัฒนาแหล่งขนาดเล็ก/การส่งเสริมปลูกพืชปุ๋ยสด

แก้วิกฤติแล้ง"ลุ่มน้ำยม"แบบยั่งยืน

         พลเอกฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่เช่นลุ่มน้ำอื่นๆ ทําให้ฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วม และในฤดูแล้งน้ำไม่พอใช้  จึงต้องอาศัยน้ำต้นทุนจากแม่น้ำยม และแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งมีน้ำรวมกัน 206 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 241,898 ไร่ แบ่งเป็น จ.สุโขทัย มีน้ำใช้การได้ 175 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 190,898 ไร่ จ.พิษณุโลก มีน้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 11,000 ไร่ และ จ.พิจิตร มีน้ำใช้การได้ 8 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 40,000 ไร่ ซึ่งในส่วนพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวสามารถดูแลได้ไม่เสียหาย

          สำหรับแหล่งน้ำใน จ.สุโขทัย และพิษณุโลก จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บางระกํา จ.พิษณุโลก ได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้มลิงเพื่อรับน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยก่อสร้างคลองไส้ไก่ชักน้ำเข้าแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง และก่อสร้างคลองชักน้ำเข้าแก้มลิง 3 แห่ง คือ บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และ บึงขี้แร้ง ทําให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งนี้ เป็นการชดเชยเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปอีกทางหนึ่ง  

แก้วิกฤติแล้ง"ลุ่มน้ำยม"แบบยั่งยืน

         ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกข้าวนั้น ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทํามาตรการเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีรายได้ในช่วงฤดูแล้งโดยใช้งบปกติและมุ่งเน้นพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ตุลาคม 2559 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานให้ ครม. ทราบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ประกอบด้วย 6 มาตรการ 29 โครงการ เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การเพิ่มน้ำต้นทุน และ การจัดทําแผนชุมชน เป็นต้น  ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการข้างต้นว่ามีสามารถบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรได้หรือไม่ และมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่อย่างไร

        เช่น การแนะนําเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกข้าวโพดใช้น้ำน้อยกว่าทนแล้งได้ดีกว่า และช่วยเกษตรกรในเรื่องแหล่งรับซื้อผลผลิตด้วย ขณะเดียวกัน พื้นที่ลุ่มน้ำยมที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานมักท่วมในฤดูน้ำหลากช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จึงจําเป็นต้องประชาสัมพันธ์และเตรียมพร้อมให้เกษตรกรเริ่มการเพาะปลูกในช่วงเดือนเมษายน 2560

แก้วิกฤติแล้ง"ลุ่มน้ำยม"แบบยั่งยืน

      “ในปีนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำ และ วางแผนเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านเกษตร ปี 2559/2560 เนื่องจากผลพวงจากภัยแล้งปีที่แล้วทําให้ต้นปีมีน้ำใช้การในเขื่อนต่างๆ น้อยกว่าทุกปี โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ก็ได้สั่งการให้ส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทํามาตรการเช่นเดียวกับปีที่แล้วโดยใช้งบปกติ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก พบว่าประสบผลสําเร็จมาก เพราะได้วางแผนล่วงหน้าบูรณาการทํางานร่วมกัน และติดตามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผน มีน้ำอุปโภคบริโภคถึงกรกฎาคม 2559 เขตประกาศช่วยเหลือภัยแล้งน้อยกว่าปีก่อนๆ อีกด้วย” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

      ทั้งหมดถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจจะสามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและเสียหายจากวิกฤติแล้งซ้ำซากในลุ่มน้ำยมในระยะสั้นและยาวได้แบบยั่งยืนอย่างแน่นอน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ