ข่าว

แก้หนี้นอกระบบด้วยสหกรณ์ฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.สมพร อิศวิลานนท์

            ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปี ได้รับการประกาศให้เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” เพื่อสดุดีและน้อมร่วมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ผู้ซึ่งทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ ปูพื้นฐาน และจัดตั้งขยายกิจการของวิธีการสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทยและได้รับการสดุดีให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” จึงขอย้อนอดีตเพื่อให้เห็นความสำคัญของการสหกรณ์ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของชาวนาไทย

แก้หนี้นอกระบบด้วยสหกรณ์ฯ

          ภายหลังประเทศไทยเปิดเสรีการค้าภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษและรวมถึงสนธิสัญญากับชาติตะวันตกอื่นๆ เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้น ได้กระตุ้นให้ครัวเรือนชาวนาเกิดความต้องการเงินทุนเพิ่มเติม ทั้งเพื่อการปรับปรุงที่ดินการจัดหาปัจจัยการผลิต ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร เพราะเป็นโอกาสที่ชาวนาจะเพิ่มพูนรายได้ให้กับครัวเรือนจากการขยายการผลิตเพื่อการค้า อันเป็นผลจากการผลิตเชิงการค้าและการขยายการผลิตในระดับไร่นาของครัวเรือนในชนบท รวมถึงความต้องการข้าวที่มีมากขึ้นจากการขยายตัวของตลาดส่งออกในขณะนั้น

          ในอดีตเมื่อถึงฤดูเพาะปลูก ชาวนาที่ต้องการเงินทุนต้องพึ่งพาเงินกู้จากนายทุนผู้มีฐานะในหมู่บ้านหรือพ่อค้าผลิตผลซึ่งเป็นเงินกู้เงินกู้นอกระบบ ทั้งนี้ เพราะบุคคลเหล่านี้มีเงินสดอยู่ในมือ ขณะที่ชาวนาไม่มีเงินสดในมืออีกทั้งในยามเดือดร้อน หรือเจ็บป่วย ก็ต้องอาศัยพึ่งพาผู้ให้กู้นอกระบบและญาติพี่น้อง เพราะเป็นกลุ่มบุคคลในชนบทเพียงกลุ่มเดียวที่มีความใกล้ชิดพอพึ่งพากันได้ เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วน

แก้หนี้นอกระบบด้วยสหกรณ์ฯ

          สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับครัวเรือนในชนบทและชาวนาอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้ชาวนาที่ไปกู้ยืมต้องตกอยู่ในสภาพการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะแหล่งเงินกู้ในชนบทดังกล่าวนอกจากจะคิดดอกเบี้ยในอัตราระดับสูงแล้ว ในหลายกรณีผู้ให้กู้ที่เป็นพ่อค้าในหมู่บ้านมักจะผูกโยงเงื่อนไขการให้กู้ไปกับการบังคับให้เกษตรกรต้องนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับผู้ที่ให้กู้ ซึ่งเป็นการบังคับซื้อในระดับราคาต่ำ หรือมีเงื่อนไขอื่นๆของการให้กู้ที่เอารัดเอาเปรียบชาวนาผู้กู้ เช่น การคิดดอกเบี้ยในอัตราสูง การบังคับให้นำสินทรัพย์ที่ดินจำนวนมากกว่าเงินกู้มาให้ผู้กู้ถือไว้เพื่อเป็นหลักประกัน เป็นต้น

          การขาดแคลนแหล่งเงินกู้ในชนบทที่เป็นสถาบันสินเชื่อในระบบในอดีต จึงเป็นอุปสรรคต่อชาวนาและมีผลทำให้ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองและต้องตกเป็นเบี้ยล่างของนายทุนผู้ให้กู้ มีการเอารัดเอาเปรียบในเงื่อนไขการกู้ต่างๆ ในหลายกรณีจากหนี้จำนวนเล็กน้อยที่ได้ไปกู้ยืมมากลับมีจำนวนหนี้พอกพูนเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณและยากที่จะทำให้เกษตรกรหรือชาวนาเหล่านั้นหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินได้ บางรายต้องสูญเสียที่ดินหรือทรัพย์สินที่นำไปจำนองหรือนำไปเป็นหลักประกัน เปลี่ยนสถานภาพจากการที่เป็นเจ้าของนากลับกลายมาเป็นผู้เช่านา ซึ่งสร้างความทุกข์ยากให้กับเกษตรกร

แก้หนี้นอกระบบด้วยสหกรณ์ฯ

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของราษฎรที่เป็นหนี้และทรงพระราชวินิจฉัยว่า

          “การที่จะปลดเปลื้องหนี้สินของชาวนาและลดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการกู้ยืมเงินควรจัดให้มีธนาคารเกษตรโดยให้ธนาคารมีสาขาตั้งอยู่ตามส่วนภูมิภาคต่างๆ รวมถึงการหาทางนำเอาวิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุนมาจัดตั้งในประเทศไทยเพื่อให้สถาบันดังกล่าวเป็นแหล่งในการจัดหาเงินทุนให้ผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้กู้ยืมโดยตรงอันจะเป็นกลไกสำคัญที่จะลดดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่าย และในขณะเดียวกันจะช่วยฟื้นฐานะของชาวนาและเป็นการช่วยปลดเปลื้องหนี้สินตามมา” (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ