ข่าว

จากกลุ่มทอผ้าสู่“ธนาคารเส้นไหม”แห่งแรก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

        หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหมได้รับมอบหมายจัดกิจกรรม“ตามรอยพระบาทคู่บารมีสู่ต้นกำเนิดศิลปาชีพ” ณ วัดธาตุประสิทธิ์ ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา เพื่อน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งเป็นการสืบสานพระราชเสาวนีย์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหม เพื่อให้เกษตรกร ผู้ทอผ้าไหม รวมถึงเยาวชน และผู้สนใจได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้รับความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้มอบเงินทุนจำนวน 2.5 แสนบาทในการจัดตั้ง"ธนาคารเส้นไหม"เป็นแห่งแรกของประเทศ

 จากกลุ่มทอผ้าสู่“ธนาคารเส้นไหม”แห่งแรก

       “ขอขอบคุณกระทรวงเกษตรฯและกรมหม่อนไหมที่ได้มอบเงินจำนวน 2.5 แสนบาทเป็นเงินทุนหมุนเวียนของธนาคารเส้นไหมที่สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา ตอนนี้มีสมาชิกทั้งสิ้น 50 คน โดยธนาคารจะรับซื้อเส้นไหมจากจุลไหมไทยเพื่อนำมาขายต่อให้กับสมาชิกในราคาเท่าทุน ส่วนคนนอกจะคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มกิโลละ 50 บาท ซึ่งเป็นรายได้ให้กับธนาคาร”

       วงเดือน อุดมเดชาเวทย์ ประธานกลุ่มหัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์และผู้จัดการธนาคารเส้นไทยเผยในฐานะเป็น 1 ใน 6 ราษฎร ผู้ถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ ปี 2515 เมื่อครั้งทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้นที่วัดธาตุประสิทธิ์ ม.4 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนมและได้ทอดพระเนตรผ้าไหมก็รู้สึกพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีลวดลายสวยงามและเป็นเอกลักษณ์แบบพื้นบ้านของชาวบ้านนาหว้า

“ตอนที่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จมา พวกเราตื่นเต้นกันมาก ต่างพากันนำของดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ไปทูลเกล้าถวาย แต่เนื่องจากเราเป็นคนจน ไม่รู้ว่าจะนำอะไรไปถวายท่านดี สุดท้ายนึกขึ้นมาได้ว่าที่บ้านมีผ้าไหมมัดหมี่ผืนหนึ่งที่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงนำของชิ้นนี้ไปถวายพระองค์ท่าน”

 จากกลุ่มทอผ้าสู่“ธนาคารเส้นไหม”แห่งแรก

    เธอเล่าต่อว่าจากนั้น วันที่ 16 ธันวาคม 2515 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าสริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยราชองค์รักษ์พ.ต.ท.วิศิษฐ์ เดชกุญชร ณ อยุธยา (ยศขณะนั้น) มาพบราษฎร 6 คนที่ถวายผ้าไหมในคราวเสด็จและสั่งให้ทอผ้าไหมเพิ่มขึ้นแล้วนำทูลเกล้าฯ ถวายอีก คนละ 6 ผืน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรผ้าไหม ก็พอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก รับสั่งให้ราษฎรทอผ้าไหมเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วนำทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นประจำทุกปี 

      จากนั้นท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ราชเลขานุการสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ประสานงานและออกติดตามเยี่ยมราษฎรที่ทอผ้าไหมเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างใกล้ชิด จึงได้เริ่มส่งเสริมการทอผ้าไหม โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ฟื้นฟูการทอผ้าไหมในช่วงว่างจากกาประกอบอาชีพทำนา”เสริมรายได้ให้แก่ราษฎรเน้นการทอลวดลายพื้นบ้านและเป็นเอกลักษณ์ของชาวนาหว้าอย่างแท้จริง 

     ต่อมามีราษฎรสนใจเข้าร่วมทอผ้ามากขึ้น จึงได้จัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไหม” ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นกลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศ และได้โปรดพระราชทานจัดให้มีการฝึกอบรมสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมเพิ่มความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน และพระราชทานอุปกรณ์ในการทอผ้าไหมให้แก่สมาชิก พร้อมกับได้โปรดรับซื้อผ้าไหมที่สมาชิกทอขึ้นทุกปี กระทั่งในปี 2520 พระองค์ได้มีรับสั่งให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านนาหว้าเป็น"มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทอผ้าไหม บ้านนาหว้า บ้านนาคูณใหญ่ บ้านท่าเรือ บ้านนางัว บ้านนาคอยและบ้านโคกสะอาด อ.นาหว้า จ.นครพนม กลุ่มทอผ้าไหม บ้าน เซียงเซา บ้านหนองนกทา อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม พร้อมสร้างอาคารบรรจุกี่ขึ้น 30 กี่มีชื่อ“ศูนย์ศิลปาชีพหัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาหว้า”

  ด้าน สุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวถึงการจัดโครงการ “ตามรอยพระบาท คู่พระบารมี สู่ต้นกำเนิดศิลปาชีพ”เพื่อน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ รวมทั้งเป็นการสืบสานพระราชเสาวนีย์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหม เพื่อให้เกษตรกร ผู้ทอผ้าไหม รวมถึงเยาวชน และผู้สนใจได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้รับความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

                                                    ..................................................................... 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ