ข่าว

ยกระดับโรงสีแปรรูป“สังข์หยด”สู่มาตรฐานGMP

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

        การนำมาตรฐานสินค้าเกษตร(มกษ.)ทั้ง GAP และ GMP มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการธุรกิจของโรงสีข้าวชุมชนบ้านเขากลาง ม.13 ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง แหล่งผลิตและแปรรูปข้าวสังข์หยดคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  นับเป็นทางออกให้กับเกษตรกรในการยกระดับคุณภาพข้าวสังข์หยดตั้งแต่กระบวนการผลิตในไร่นา จนถึงกระบวนการแปรรูปข้าวเปลือก ตลอดจนเพิ่มมูค่าและสร้างตราสินค้าผลิตภัณฑ์ของโรงสีข้าวให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น 

ยกระดับโรงสีแปรรูป“สังข์หยด”สู่มาตรฐานGMP

        ลุงนัด อ่อนแก้ว วัย 65 ปี ประธานกลุ่มวิสากิจชุมชนบ้านเขากลางและนายกสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดจ.พัทลุงเผยว่าข้าวสังข์หยดเป็นข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) พันธุ์แรกของประเทศ โดยมีแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันทางกลุ่มจะไม่มีการจำหน่ายในรูปของข้าวเปลือก แม้ว่าพ่อค้าจะเสนอราคารับซื้อมาสูงก็ตาม แต่จะมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยผ่านโรงสีข้าวชุมชนที่ผ่านมาตรฐาน GMP เพื่อให้ได้ข้าวสารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเหมาะสำหรับการบริโภค

        “โรงสีข้าวของกลุ่มยังเป็นโรงสีชุมชนขนาดเล็ก มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 12 ตันต่อวัน มีเกษตรกรสมาชิกในเครือข่ายประมาณ 43 ราย ครอบคลุม 5 หมู่บ้าน มีกำลังการผลิตที่ 4 พันตันต่อฤดูการผลิต เป็นข้าวนาปีผลิตได้ปีละครั้ง”

          ประธานกลุ่มคนเดิมระบุอีกว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ถึงแม้จะเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกไม่มาก แต่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านเกษตรกรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต การแปรรูปเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการแสวงหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้แรกเริ่มกลุ่มได้นำมาตรฐานGAP มาใช้ในการเพาะปลูกข้าวสังข์หยดก่อน จนกระทั่งปี 2557 จึงมีการปรับปรุงระบบบริหารจัดการกระบวนการผลิตโรงสีข้าวให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี GMP(มกษ.) ซึ่งปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนยังคงดำเนินการตามมาตรฐานสินค้าเกษตรในทุก ๆ ด้าน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะได้ข้าวสารมีคุณภาพ ปลอดภัย เพิ่มมูลค่าของสินค้าข้าวแล้วยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

        ลุงนัดอธิบกายกระบวนการผลิตโรงสีข้าวชุมชนมาตรฐานจีเอ็มพี(GMP) เริ่มจากขั้นตอนการคัดแยกสิ่งปลอมปนในเมล็ดข้าวและตรวจวัดความชื้น หลังจากสมาชิกนำข้าวเปลือกจากแปลงนามาที่โรงสี จากนั้นก็จะนำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกสิ่งปลอมปนออกและทำการตรวจวัดความชื้น โดยจะต้องทำการไล่ความชื้นอยู่ที่ไม่เกิน 14% ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสี ซึ่งกระบวนการสีนั้นก็จะมีการแยกเป็นข้าวสาร(กล้อง) ข้าวสาร(ขัดขาว) รำข้าวและแกลบ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการบรรจุหีบห่อเพื่อรอจำหน่ายต่อไป

           “ตอนนี้ทางกลุ่มรับซื้อข้าวจากสมาชิกขั้นต่ำอยู่ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท เมื่อสมาชิกนำข้าวเปลือกมาส่ง เราก็จะทำการชั่งน้ำหนัก จากนั้นเข้าสู่กระบวนการคัดแยกสิ่งปลอมปนและไล่ความชื้นให้อยู่ที่ 14% จากปกติจะอยู่ที่ 20-25% เสร็จแล้วก็จะนำข้าวเปลือกที่ได้มาบรรจุในถุงขนาดใหญ่แล้วเก็บไว้ในโกดังเพื่อรอการสีเป็นข้าวสารต่อไป ซึ่งการสีนั้นเราจะทำตามออเดอร์ของลูกค้าก่อนนำมาบรรจุหีบห่อตามที่ลูกค้าต้องการ ส่วนตลาดไม่น่าห่วงมีเข้ามาทุกวัน มีทั้งลูกค้าทั่วไป ส่งห้างสรรพสินค้าแล้วก็ยังส่งออกต่างประเทศด้วย เช่น จีน สิงคโปร์ประมาณ 20 %ของผลผลิตทั้งหมดประมาณ 4-5 พันตันต่อฤดูกาลผผลิต”ลุงนัดกล่าวทิ้งท้าย

         กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการก้าวสู่มาตรฐาน GMP การันตีด้วยรางวัลบริการภาครัฐดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)ประจำปี 2557  ผลจากการได้รับรางวัลเป็นการการันตีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดและผู้บริโภคผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอนตั้้งแต่แปลงปลูกจนถึงโรงสี นับเป็นการขับเคลื่อนเพื่ิอสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไปหรือติดตามเรื่องราวชุมชนต้นแบบได้ในรายการ“ร่วมแรงร่วมใจกับผู้ปิดทองหลังพระ”ทางสถานีวิทยุมก.เวลา 15.05-15.55 น.ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์                                                       ................................................................................................................

         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ