ข่าว

แจกส.ป.ก."สวนส้ม"6พันไร่!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

          เกษตรฯ เร่งแผนจัดระบบแปลงใหญ่สวนส้มหลังยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. อ.ฝาง จากผู้ครอบครองสวนส้มเดิม เนื้อที่รวม 5,960 ไร่ เตรียมจัดสรรให้เกษตรกรตามนโยบาย คทช. ให้เกษตรกรที่ยากไร้ขาดที่ดินทำกินในรูปแบบสหกรณ์

         พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สวนส้ม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ว่า การดําเนินการยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามคําสั่ง หน.คสช.ที่ 36/2559 ใน จ.เชียงใหม่ พื้นที่เป้าหมาย จํานวน 5 แปลง เนื้อที่ 6,363 ไร่

แจกส.ป.ก."สวนส้ม"6พันไร่!

         ผลการดําเนินการยึดคืน พบว่า ได้ยึดคืนเป็นที่ดิน ส.ป.ก. เนื้อที่ 6,305 ไร่คืนให้ผู้ครอบครอง เนื้อที่ 58 ไร่ โดยแผนการจัดให้เกษตรกรจะจัดเป็นรูปแบบแปลงใหญ่ 5 แปลง เนื้อที่ 5,960 ไร่ กำหนดแล้วเสร็จใน เม.ย.60 และจัดให้เกษตรกรที่ครอบครองเดิม เนื้อที่ 345 ไร่ ซึ่งขณะนี้กองทัพบก ได้อนุมัติหลักการให้หน่วยทหารช่างสนับสนุนการปรับพื้นที่แล้ว ประกอบด้วย สวนส้มธนาธร 2,144 ไร่ สวนส้มเชียงใหม่มิตรเกษตร 3,287 ไร่ สวนส้มอมรมิตร 502 ไร่ พื้นที่ว่างเปล่า 27 ไร่

        สำหรับการดําเนินการพัฒนาจัดสรรสวนส้มที่ยึดคืนได้ จะแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเริ่มจากพื้นที่ว่างเปล่า แต่สวนส้มนี้มีความพร้อมทุกด้าน เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรสามารถมีรายได้ทันที โดยหน่วยงานของรัฐต้องเข้ามากํากับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดําเนินการจัดตั้งสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ต้องมาเสริมความรู้ในการทําการเกษตร เนื่องจากพื้นที่สวนส้มมีความพร้อมมาก ทั้งต้นส้ม แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ อาคาร ถนน และอื่นๆ

แจกส.ป.ก."สวนส้ม"6พันไร่!

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ลงพื้นที่

        โดยผู้ครอบครองเดิม คือ สวนส้มธนาธร สวนส้มเชียงใหม่มิตรเกษตร และ สวนส้มอมรมิตร ยินดีที่จะสละพื้นที่พร้อม สวนส้มและสิ่งอํานวยความสะดวก เพื่อให้ ส.ป.ก.ดําเนินการจัดสรรตามนโยบาย คทช. โดยพื้นที่สวนส้มนี้จะจัดให้เกษตรกร 600 ราย ในรูปสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งผู้ครอบครอง เดิมจะเข้ามาดูแลในเรื่องการรับซื้อผลผลิต เป็นความร่วมมือแบบประชารัฐ แบ่งพื้นที่เป็น 5 ชุมชน ชุมชนละ 100-150 ราย เพื่อไม่เกิดการกระทบกระทั่งกันในชุมชน

        ทั้งนี้ การจัดที่ดิน จัดเป็นที่พักอาศัย รายละ 1 ไร่ รวม 600 ไร่ ต้องรื้อสวนส้มเดิมออก หากไม่รื้ออกอาจจะเกิดโรค ระบาดในสวนส้มได้ และจัดเป็นพื้นที่การเกษตร รายละ 4.5-6.0 ไร่ รวม 3,200 ไร่ โดยยึดแนวต้นส้ม และ ระบบ กระจายน้ำที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก จัดเป็นพื้นแปลงรวม  639 ไร่ จัดเป็นแนวเขตป้องกันอันตรายจากสารเคมี (Buffer Zone) ซึ่งต้องฉีดพ่นทุกสัปดาห์ ระยะ 30 ม. รวม 280 ไร่ ซึ่งจะปลูกต้นไผ่ 20 ม. เพื่อกันการกระจายของสารเคมี จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง (อาคาร/ถนน) รวม 660 ไร่ จัดเป็นแหล่งน้ำ รวม 442 ไร่ พื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ (RF) รวม 139 ไร่      

แจกส.ป.ก."สวนส้ม"6พันไร่!

        "สวนส้มเป็นเรื่องที่มีเทคนิคเฉพาะ ทั้งการปลูก การดูแล การตลาด ดังนั้น จึงต้องประสานกับผู้ที่ครอบครองเดิม เข้ามาทํางานร่วมกันในลักษณะประชารัฐ รองรับเรื่องการตลาด ต้องจัดเกษตรกรที่มีความพร้อม มีความใฝ่รู้ ต้องพิจารณาเกษตรกรที่ทําอยู่เดิม ซึ่งมีความรู้ความชํานาญ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง กระจายไปในทุกกลุ่ม เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรครอบคลุมทุกด้าน ทั้งหมดจะดําเนินการให้เสร็จภายใน เม.ย.60 โดยจะเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแจกเอกสารสิทธิให้เกษตรกรอีก"พลเอกฉัตรชัย กล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ