ข่าว

กล้วยไม้ช้างแดง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ศ.ระพี สาคริก

       เมื่อกล่าวถึงกล้วยไม้ คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าฉันทำเรื่องกล้วยไม้ แทนที่จะนึกถึงคำเตือนของคนโบราณ ที่กล่าวไว้ว่า“อย่าไปมองที่ตัวมัน แต่ขอให้มองที่มาที่ไป”ความจริงแล้วฉันเริ่มจับงานกล้วยไม้ตั้งแต่อายุเพียงเลขตัวเดียว ต่อมาภายหลัง ผลจากความคิดและการกระทำได้ขยายเครือข่ายกว้างขวางออกไป จนกลายเป็นเรื่องราวของศาสตร์ทุกสาขา แต่เธอส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่า ฉันทำเรื่องกล้วยไม้อยู่อีกนั่นแหละ ฉันนึกถึงคำปรามาสที่กล่าวไว้ว่า“คนไทยชอบดูถูกของเล็ก”แทนที่จะคิดว่าของเล็กนั้น มันเกิดจากรากเหง้า กว่าจะกลายเป็นของใหญ่ก็ต้องรอดูให้ถึงวิญญาณความเพียรพยายาม รวมทั้งมุ่งมั่นรักษารากฐานตนเองให้มั่นคงอยู่ได้

           ดังนั้น การที่ฉันเริ่มต้นจากกล้วยไม้ มันก็เป็นความคิดริเริ่มซึ่งมีเป้าหมายสำคัญอยู่ในจิตใต้สำนึก ซึ่งสิ่งนี้ย่อมเกิดจาก“รากฐานจิตใจที่มีอิสรภาพถึงระดับหนึ่งแล้ว” ฉันขออนุญาตนำเอาบทความเรื่องหนึ่งซึ่งตนเขียนออกมาจากปรัชญาที่อยู่ในใจตัวเอง เรื่องนั้นก็คือ“ฤาผงธุลีชิ้นเล็กๆ จะไร้คุณค่า?”ซึ่งบทความเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือที่มีชื่อว่า“ปรัชญากับชีวิต”

         บัดนี้ฉันมีอายุ 90 ปีกว่าแล้ว ครั้นหวนกลับไปสู่อดีตทำให้นึกถึงคำปรามาส ซึ่งเคยได้ยินมานานแล้วว่า“คนไทยส่วนใหญ่ดูถูกของเล็ก”บ้างก็พูดกันว่า“คนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยลืมง่าย”ซึ่งแท้จริงแล้วมันมีเหตุผลมาจากไหน ซึ่งเราควรค้นหาเหตุผลให้ถึงที่สุด ฉันเคยพูดเตือนสติคนทั่วไปอยู่เสมอว่าอย่าดูถูกความทุกข์ทั้งนี้เพราะ “ถ้าไม่พบความทุกข์แล้วเราจะพบความสุขได้ยังอย่างไร” ในเมื่อวิถีการเรียนรู้ของมนุษย์มันหมุนวนเป็นวัฏจักร ดังนั้น สิ่งซึ่งทุกคนพบและสัมผัสได้ในครั้งแรกของชีวิตย่อมนำไปสู่การรู้ความจริงที่มันอยู่ในรากฐานจิตใจตนเอง สรุปแล้วเราอาจกล่าวอย่างมั่นใจได้ว่า“ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของไร้ประโยชน์”เว้นไว้แต่ว่าตัวเราเองจะกล้าเผชิญกับความจริงจากการนำปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันเช่นนั้นหรือเปล่า

          ฉันหวนกลับไปนึกถึงความจริง ซึ่งมักพบปรากฏเปลี่ยนแปลงอยู่ในสังคมเสมอๆ มาว่า คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า“สิ่งที่เล็กที่สุด หรืออาจกล่าวว่าเป็นผงธุลีที่หลุดออกมาจากผิวพื้นดิน ไม่ว่ามันจะปลิวไปตกลงที่ไหน หลายคนมักไม่สนใจที่จะนำมาใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้”หากใช้วิธีปฏิบัติที่เรียกกันว่า“เอาง่ายเข้าว่า”โดยเหยียบย่ำซ้ำเติมมันไปอย่างไร้ความหมาย ซึ่งบุคคลลักษณะนี้มักเดินเข้าไปหาความทุกข์อย่างปราศจากการรู้ได้ถึงความจริงเพิ่มมากยิ่งขึ้น

           ถ้ามองเห็นสัจธรรมบทนี้ได้อย่างชัดเจนย่อมรู้ว่า แท้จริงแล้ว“แผ่นดินซึ่งทำหน้าที่รองรับวิถีการดำเนินชีวิตนั้น หากนำมาพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ถ้าสามารถปลดปล่อยเงื่อนไขที่มันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกตนเองออกไปให้มากที่สุด”เพื่อให้เปลี่ยนมาเป็นอิสรภาพ เราย่อมรู้ได้เองว่า แท้จริงแล้ว การมองผงธุลีอย่างไร้ความหมายนั้น ย่อมเกิดจากการสำคัญตนเองผิด ไม่เช่นนั้นแล้วควรจะเห็นความจริงที่มันลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นว่า“ภายในพื้นดินอันควรถือว่าเป็นสิ่งรองรับการดำเนินชีวิตของแต่ละคน การสนใจเรียนรู้ควรนำไปสู่การรู้คุณค่าภายในจิตใต้สำนึกของตน หากไม่ตกอยู่ในความประมาทย่อมหยั่งรู้ความจริงว่า พื้นดินผืนนี้ย่อมขาดผงธุลีผงเล็กๆ เสียมิได้”และหากขาดผงธุลีดังกล่าวแผ่นดินผืนนี้ย่อมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ยาก นอกจากนั้นเราก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูต่อตนเองไปโดยปริยายอย่างปราศจากข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น นี่แหละ คือ“ความหมายของความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าอย่างที่สุด”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ